DITTO ผนึก 3 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไอทีคว้าโปรเจ็กต์ไซเบอร์ซีเคียวริตี้พันล้านแบงก์กรุงไทย

กรุงไทยปิด-1

DITTO นำทีมผนึก 3 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไอที “เอไอที-MFEC และ G-Able” เซ็นสัญญาโครงการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ “กรุงไทยคอมพิวเตอร์ เซอร์วิสเซส” ในเครือธนาคารกรุงไทย มูลค่าเกือบ 1 พันล้านบาท ภายใต้โปรเจ็กต์ Hybrid CSOC จัดหาระบบคอมพิวเตอร์ บุคลากร พร้อมปรับกระบวนการทำงาน เพื่อป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “DITTO” เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ บริษัทฯ ร่วมกับผู้แทนจากบริษัทพันธมิตรอีก 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจไอที ในนามธุรกิจค้าร่วม ADGM ร่วมลงนามในสัญญาดำเนินโครงการ Hybrid CSOC กับบริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) ในเครือธนาคารกรุงไทย

ฐกร รัตนกมลพร
ฐกร รัตนกมลพร

มูลค่าโครงการกว่า 939 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ครอบคลุมดำเนินการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงการจัดหาบุคลากรและปรับปรุงกระบวนการทำงานและสถานที่ในการปฏิบัติงานเพื่อรับมือและป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์

สำหรับธุรกิจค้าร่วม ADGM ประกอบด้วย บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) เป็นแกนนำถือสัดส่วน 40% ส่วนพันธมิตรอีก 3 บริษัทประกอบด้วย บมจ.แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี หรือ AIT บริษัท จีเอเบิล จำกัด หรือ G-Able และ บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี หรือ MFEC ถือสัดส่วนรายละ 20% โดยจะรับผิดชอบการให้บริการตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัท โดย DITTO จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความเชี่ยวชาญ และขยายการให้บริการที่ต้องใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการโจมตีและการโจรกรรมข้อมูลอีกด้วย

นายฐกรกล่าวว่า ทั้ง 4 บริษัท ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านไอทีมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และได้รับการยอมรับว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ รวมถึงมีผลงานทั้งงานภาครัฐและเอกชนมากมาย ที่สำคัญมีบุคลากรที่มีประสบการณ์มีความรู้และความเชี่ยวชาญสูง

โครงการ Hybrid CSOC เป็นการพัฒนาระบบและกระบวนการรับมือและป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นตรงตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย การดำเนินโครงการ Hybrid CSOC จะทำให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการของธนาคารมีความมั่นใจในความปลอดภัย ทั้งในด้านเงินฝาก ข้อมูลส่วนตัวที่แจ้งไว้กับธนาคาร ก็จะมีความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

“จากความต้องการด้านระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ DITTO ซึ่งมีธุรกิจหลักด้านการบริหารจัดการข้อมูล ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ให้บริการชั้นนำของประเทศ จึงพัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน” นายฐกรกล่าว