ลุ้นประมูลคลื่น900/1800MHz เอกชนติงเกณฑ์ชิงความถี่ช่องโหว่เพียบ

คนไทยยุคดิจิทัล - สัดส่วนคนใช้มือถือเทียบกับประชากรในบ้านเรากำลังจะแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วด้วยอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ 138% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 127% และการใช้ดาต้าก็โตฉุดไม่อยู่ทำให้คลื่นใหม่ยังเป็นที่ต้องการของค่ายมือถือ

เกณฑ์ประมูลคลื่นใต้สัมปทานดีแทค ผ่านฉลุย เตรียมเคาะราคา พ.ค. 2561 ก่อนหมดสัมปทาน กันซ้ำรอย “ทรูมูฟ-ดีพีซี-เอไอเอส” สตาร์ต 3.7 หมื่นล้านบาท/ไลเซนส์ ค่ายมือถือระบุเอื้อบางราย ผู้เชี่ยวชาญชี้คนไทยอาจได้ใช้ 5G ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไร้แผนรีฟาร์มมิ่ง ส่วนคลื่น 2600 MHz ส่อแววลากยาว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคม (6 พ.ย. 2560) เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ในสัมปทานระหว่างกสท โทรคมนาคม (แคท) และดีแทค ขั้นตอนจากนี้จะเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาวันที่ 8 พ.ย. และเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์และประกาศราชกิจจานุเบกษาได้ ม.ค. 2561

“จะเคาะราคาประมูลได้ราว พ.ค. 2561 และมอบใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลได้ไม่เกิน ก.ค.หรือ ส.ค. แม้บอร์ด กสทช.ชุดนี้จะเป็นชุดที่ปฏิบัติหน้าที่แทนไปก่อน แต่เปิดดูกฎหมายแล้วไม่ขัดเจตนารมณ์ เนื่องจากเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ เชื่อว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ รัดกุมพอ ยึดตามมติบอร์ด กทค. และ กสทช. และประกาศ คสช. เรื่องประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่ตาม ม.44 หลังแจสโมบายทิ้งคลื่น”

สาระสำคัญคือ คลื่นย่าน 900 MHz จะจัดประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด5 MHz ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท อายุ 15 ปี โดยการประมูลแต่ละครั้งจะเคาะราคาเพิ่ม 76 ล้านบาท (0.2% ของราคาเริ่มต้น) ส่วนคลื่นย่าน 1800 MHz มี 3 ใบอนุญาต แถบคลื่น 15 MHz/ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท อายุ 15 ปี เคาะราคาเพิ่มรอบละ 75 ล้านบาท

“ผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะเข้าประมูลแต่ละย่านความถี่ได้แค่ 1 ใบอนุญาต จำนวนที่จะนำออกประมูลจะน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 ใบ (N-1) ดังนั้นถ้าคลื่น 1800 MHz มีผู้เข้าประมูล 3 ราย กสทช.จะนำคลื่นออกประมูลแค่ 2 ใบ ที่เหลือเก็บไว้รอให้บอร์ดพิจารณาว่าจะนำออกประมูลเมื่อไร แต่ถ้ามีผู้เข้าประมูล 1 ราย จะไม่หยุดกระบวนการ แต่จะขยายเวลารับสมัครอีก 30 วัน เพื่อเปิดให้รายอื่นเข้ามาใหม่ถ้าขยายเวลาแล้วยังมีแค่1 ราย ก็จะเดินหน้าต่อ แต่ต้องเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง คือ บวกจากราคาเริ่มต้น 75-76 ล้านแล้วแต่คลื่น”

ทิ้งไลเซนส์จ่าย 7.7 พันล้าน

ขณะที่บริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด ที่เคยทิ้งใบอนุญาตในการประมูลคลื่นครั้งก่อนก็เข้าประมูลในครั้งนี้ได้ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ครบถ้วน เนื่องจากเสียค่าปรับต่าง ๆ ตามคำสั่ง กสทช.ครบแล้ว แต่หากผู้ชนะไม่ชำระเงินค่าประมูล และทิ้งใบอนุญาตจะโดนริบเงินประกัน 5% ของราคาเริ่มต้นประมูล และค่าปรับอีก 15% รวมราว 7,700 ล้านบาท

“ประมูลรอบนี้ยังไม่กำหนดเพดานคลื่นความถี่รวมที่แต่ละโอเปอเรเตอร์จะถือครองได้ (สเป็กตรัมแคป) เพื่อป้องกันการยื่นฟ้องที่จะเป็นอุปสรรคให้กระบวนการประมูลหยุดชะงัก มั่นใจว่ามีผู้เข้าประมูลแน่ เพราะคลื่นในตลาดมีแค่ 420 MHz ขณะที่ ITU มองว่าควรมีถึง 700 MHz”

เดินหน้าไม่รอบอร์ดชุดใหม่

ขณะที่ความคืบหน้าในการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก บมจ.อสมท เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นั้น เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า น่าจะใช้เวลาอีกระยะ แม้จะมีการประกาศใช้ระเบียบแล้วก็มีแนวโน้มยืดเยื้อเพราะเจ้าของคลื่นเดิมย่อมต้องการได้รับการเยียวยาสูงสุด เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์จึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8-9 เดือน

ค่ายมือถือบ่นอุบเอื้อบางราย

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นนี้ยังมีช่องโหว่หลายจุด อาทิ การกำหนดเงินวางประกันที่ต้องกำหนดให้มีการวางแบงก์การันตี 2 ใบ คือ 5% ของราคาขั้นต่ำที่เป็นเงินประกัน และอีก 15% ที่ต้องวางไว้เผื่อเป็นค่าปรับหากทิ้งใบอนุญาต แต่ในร่างหลักเกณฑ์ไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ กสทช.ริบได้แต่เงินประกัน ส่วนค่าปรับต้องฟ้องเรียกภายหลัง แต่ถ้ามีการวางหลักประกันค่าปรับไว้ล่วงหน้า กสทช.จะริบเงินได้ทันที

“หาก AIS ชนะรอบนี้อีกก็จะได้เปรียบคนอื่น เพราะได้แถบคลื่นกว้างขึ้น แต่ถ้าคนอื่นได้เป็นแค่บล็อกเล็ก ๆ รองรับลูกค้าได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น หาก กสทช.ปรับเงื่อนไขให้ย้ายแถบคลื่นไปในส่วนที่ติดกับคลื่นเดิมของผู้ชนะได้จะจูงใจกว่า”

ขณะที่การนำคลื่นออกประมูลก่อนหมดสัมปทานยังทำให้ดีแทคไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแก่ประชาชนในช่วงเยียวยาหลังหมดสัมปทาน ต่างจากสัมปทานทรูมูฟ, ดีพีซี และเอไอเอส ที่ กสทช.เรียกเงินรายได้เพิ่มทั้ง ๆ ที่เป็นการให้บริการที่ขาดทุน

ทรูส่งหนังสือค้านเกณฑ์ประมูล

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มทรูได้ทำหนังสือถึงบอร์ด กสทช.เพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวนแนวทางการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดทางเทคนิคของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ด้วย โดยระบุว่า มติที่ประชุม กสทช.ล่าสุดไม่ได้ระบุถึงแนวทางการกำหนดการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 800/900 MHz ที่เหลือแต่อย่างใด แต่กลับกำหนดคลื่นย่าน 885-890 MHz/930-935 MHz ให้สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง อีกทั้งมาตรฐานทางเทคนิคยังมีข้อจำกัดไม่สามารถรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ด้วยเทคนิค carrier aggregation สำหรับช่วงความถี่ที่ไม่ติดกันบนคลื่นย่าน 900 MHz ได้

การที่ กสทช.นำคลื่น 890-895MHz/935-940 MHz มาประมูลสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ก็จะมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นย่าน 900 MHz ในช่วงติดกับคลื่นย่าน 890-895 MHz /935-940 MHz ซึ่งมีอยู่เพียงรายเดียวเท่านั้นที่จะใช้ประโยชน์ได้ ทำให้การจัดสรรคลื่นเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอเสนอให้ กสทช.พิจารณาแนวทางการกำหนดช่วงคลื่นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 900 MHz รายเดิมทั้ง 2 ราย มีโอกาสใช้คลื่นย่าน 900 MHz ในลักษณะที่เป็นช่วงความถี่ต่อเนื่องติดกันหรือขอเสนอให้ กสทช.พิจารณาจัดให้มีการประมูลภายหลังจากข้อจำกัดทางเทคนิคดังกล่าวได้หมดไป

คลื่นใหม่อาจไม่ได้ 5G เต็มร้อย

นายจื้อหมิง หาน ประธานกรรมการ บริษัท แซดทีอี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า เริ่มวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี 5G ตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันเริ่มทดสอบและทดลองใช้จริงแล้วในหลายประเทศ เช่นจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอิตาลี

สำหรับในประเทศไทย มีความร่วมมือด้าน 3G 4G กับเอไอเอส ทรู และทีโอที และขณะนี้กำลังทดลอง 5G บนคลื่น 1800 MHz กับเอไอเอส คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้งานจริงปีหน้า

ขณะที่คลื่นที่นิยมใช้ในทดลองให้บริการ 5G มีทั้งช่วง 1300 MHz 2600-2800 MHz และ 3500 MHz ขึ้นไป

“การนำ 5G มาทดลองบนคลื่น 1800 MHz ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะใช้ด้วยเทคโนโลยี 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ อาจมีความแตกต่างบ้าง แต่บริษัทกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้รองรับการใช้ 5G บนคลื่น 800-900 MHz”

แต่สิ่งแรกที่ประเทศไทยควรเริ่มคือ การจัดสรรคลื่นให้เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากสถิติการใช้ทราฟฟิกบนโครงข่าย 4G ที่ ZTE ได้เก็บข้อมูลไว้ 41% เป็นการใช้ VDO 21% ใช้เล่นเกม 14% ใช้ดาวน์โหลดข้อมูล ชี้ชัดว่ามีการใช้แบนด์วิดท์สูงขึ้นเรื่อย ๆ

คลื่น 5G ไทยใช้กับดาวเทียม

ด้าน ร.ท.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการ กสทช. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คลื่นที่รองรับการใช้ 5G ที่ดีที่สุดคือย่าน 3500 MHz ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ในกิจการดาวเทียม แม้จะเคยหารือในประเด็นนี้หลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติว่าจะมีการรีฟาร์มมิ่งเพื่อดึงคลื่นนี้มาใช้ได้หรือไม่ ขณะที่คลื่น 2600 MHz เป็นอีกย่านที่มีหลายประเทศนำไปใช้ให้บริการ 5G ก็ยังสรุปไม่ได้เช่นกันว่าจะดึงกลับมาจัดสรรใหม่ได้เมื่อใด

คนไทยใช้ดาต้าเพิ่ม 25 เท่า

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า การประมูลคลื่นที่ กสทช.จะจัดขึ้น จะยังแข่งขันสูง โดยเฉพาะคลื่น 1800 MHz ที่เหมาะกับการนำไปให้บริการ 5G เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการใช้งานข้อมูลเฉลี่ยสูงถึง 5GB/คน/เดือน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 25 เท่าช่วง 4 ปีก่อนหน้า

อีกทั้งตลาดมีแนวโน้มใกล้อิ่มตัวด้วย อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ 138% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ 127% ส่วนการประมูลคลื่นใหม่อาจส่งผลต่อสถานะทางการเงินของค่ายมือถือ โดยประเมินว่าต้นทุนค่าคลื่นที่จะประมูลใหม่ จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) มีโอกาสเพิ่มสูงถึง 6 เท่าภายใน 4 ปี จึงต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องและหาช่องทางรายได้ใหม่เพิ่ม