ดิจิทัลคอนเทนต์โตติดลม ทะลุ2หมื่นล.”เกม”นำโด่ง

ขาขึ้นดิจิทัลคอนเทนต์ “ดีป้า” สำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมในไทยมูลค่าตลาดปี 2559 ทะลุ 21,981 ล้านบาท มั่นใจปีนี้-ปีหน้ายังเติบโตต่อเนื่องกว่า 10% แตะ 2.4 หมื่นล้าน “เกม” มีสัดส่วนมากที่สุดและเติบโตสูงสุดกว่า 10% ถัดมาเป็น “แอนิเมชั่น และแคแร็กเตอร์” เตรียมงบฯ 120 ล้านบาท ปั้นผู้ประกอบการไทยโกอินเตอร์

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (DEPA) กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีการเติบโตสูงขึ้น จากผลสำรวจในปี 2559 พบว่าทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ แอนิเมชั่น เกม และแคแร็กเตอร์ มีมูลค่ารวมกัน 21,981 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น 3,965 ล้านบาท เติบโตลดลง 1.6% อาจเพราะผลงานต่าง ๆ อยู่ในช่วงของการผลิต ดังนั้นปี 2560 นี้จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมแคแร็กเตอร์อยู่ที่ 1,687 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.3% และอุตสาหกรรมเกม 16,328 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14.8%

สำหรับแนวโน้มในปี 2560 คาดว่าดิจิทัลคอนเทนต์จะเติบโตขึ้น 10.2% หรือมีมูลค่าถึง 24,000 ล้านบาท และในปี 2561 จะเติบโตขึ้น 11.4% หรือมีมูลค่า 26,000 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นคาดว่าจะเติบโต 1.8% ในปี 2560 และโต 10% ในปี 2561 ขณะที่อุตสาหกรรมแคแร็กเตอร์จะเติบโต 9.6% ในปี 2560 และ 8.1% ในปี 2561 และเกมในปี 2560 จะเติบโต 12.2% และ 12% ในปี 2561

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการสร้างผลงานที่มีลิขสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ประเทศไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต รวมถึงช่วยส่งเสริมการส่งออกไปนอกประเทศ เพราะความต้องการในตลาดประเทศไทยไม่เพียงพอให้อุตสาหกรรมเติบโต ปัจจุบันผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าลิขสิทธิ์แอนิเมชั่นมีส่วนแบ่งตลาดถึง 50% ส่วนผู้นำเข้าและดูแลลิขสิทธิ์แคแร็กเตอร์มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 93% ส่วนผู้จำหน่ายลิขสิทธิ์ด้านเกมมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 96%

“แม้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์โดยรวมในไทยจะเติบโต แต่ยังคงพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป ทั้งการนำเข้าลิขสิทธิ์และรับจ้างผลิต ทั้งที่คนไทยมีฝีมือและมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นแนวทางในการสนับสนุนคือ ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสร้างลิขสิทธิ์ของตัวเองและส่งออกให้มากขึ้น”

นายณัฐพลกล่าวต่อถึงแนวทางการส่งเสริมว่า ดีป้ามีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์และสตาร์ตอัพคอนเทนต์ในระยะ 1 ปี แบ่งเป็น 2 โครงการ 4 กองทุน ได้แก่ 1.ดีป้า อินเตอร์เนชั่นแนลไลเซชั่น ฟันด์ (DEPA Internationalization Fund) จำนวน 20 ล้านบาท เป็นงบประมาณเดิมของปี 2560 ที่ยังใช้ไม่หมด จะแบ่งให้ผู้ประกอบการไม่เกินรายละ 2 แสนบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะเดินทางไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะเป็นการเบิกจ่ายภายหลัง ให้ผู้ประกอบการสำรองจ่ายไปก่อน คาดว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการได้ประมาณ 100 ราย

อีกโครงการเป็น “ดีป้าสตาร์ตอัพโปรแกรม” แบ่งเป็น 3 ส่วน มีงบประมาณ 100 ล้านบาท เป็นงบฯคงค้างของกระทรวงดีอีในปีงบประมาณ 2560 ส่วนแรกจะแบ่ง 20 ล้านบาท สนับสนุนสตาร์ตอัพที่ทำด้านดิจิทัลคอนเทนต์ โดยให้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท มี 200 ราย ส่วนที่ 2 อีก 20 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพที่กำลังจะก่อตั้งบริษัท คัดเลือก 20 ราย ให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท และสำหรับสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้นำได้จะสนับสนุนเงินรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท และช่วยหากลุ่มผู้ลงทุนให้ โดยจะคัดเพียง5 ราย และสุดท้ายเป็นการสนับสนุนเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว ให้นำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ส่วนนี้วางงประมาณไว้ 35 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์และจำนวนในการคัดเลือก

“ดีป้าจะไม่ให้เงินผู้ประกอบการก่อน แต่จะให้ผู้ประกอบการสำรองจ่ายและค่อยมาเบิก เนื่องจากที่ผ่านมาวัดผลได้ยากและบางรายได้เงินก็หายไป วิธีนี้ช่วยให้ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจให้เติบโตได้จริง”