สมรภูมิสตรีมมิ่งOTTดุเดือด รายใหม่เจ้าของคอนเทนต์ปั้นแอปชนยูทูบ

สตรีมมิ่งวิดีโอคึกคัก รายใหญ่จากต่างประเทศ “Twitch” รุกหนักตลาดไทย หน้าใหม่-เจ้าของคอนเทนต์แห่ท้าชนยูทูบ ทั้ง “โอทีวี” ผนึกกำลังแกรมมี่ผุด OMU แอปดูมิวสิกวิดีโอขยายฐานคนดู พร้อมจ่ายยอดวิวให้สูงกว่ายูทูบ แถมสะสมแต้มดึงผู้ใช้ ฟาก GMM ชี้ปูพรมส่งออนไลน์ทุกช่องทางคือทางรอดธุรกิจยุคนี้ ขณะที่ละครลอตใหม่ “ช่อง 3” เริ่มอัพขึ้น mello.me ก่อนยูทูบแล้ว

นายณดล ธัญญากรดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอทีวี จำกัด (OTV) เปิดเผยว่า ตลาดการให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ (Over The Top : OTT) แข่งขันสูง แต่ละรายพยายามจะหาจุดต่างดึงดูดผู้ใช้บริการ ซึ่งมีทั้งให้บริการแบบฟรีทูแอร์ ที่เน้นสร้างฐานผู้ชมสร้างรายได้จากโฆษณา และการให้บริการ

คอนเทนต์ออนดีมานต์แบบเพย์ทีวี

“รายใหญ่ต่าง ประเทศเข้ามามากและกำหนดค่าบริการที่ต่ำ ก็เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ และช่วยดันให้ตลาดโต แต่ผู้บริโภคไทยยังชินกับการดูฟรี”

ในส่วนโอทีวี เริ่มให้บริการมาแล้ว 4 ปี ด้วยการช่วยพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม VDO Content Network กับภาคธุรกิจ (B2B) มีพันธมิตรในส่วนนี้แล้ว 200 ราย อาทิ Samsung playback MThai ThaiTV DooTV Max

กลยุทธ์แตกต่าง-เสริม Big Data

โอทีวีใช้กลยุทธ์ที่ต่างจากยูทูบ ที่หาคอนเทนต์มาไว้บนหน้าจอตัวเองเพื่อรอผู้บริโภคมาเลือกดู แต่โอทีวีจะเอาคอนเทนต์ไปกระจายใส่ไว้ตามแพลตฟอร์มพาร์ตเนอร์เพื่อเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงคนดูให้มาก ที่สุด ขณะที่มีคอนเทนต์โพรไวเดอร์ทั้งในและต่างประเทศเป็นพันธมิตร ครอบคลุมทั้งละคร ข่าว มิวสิกวิดีโอ วาไรตี้ ฯลฯ ทำให้มียอดผู้ใช้งานกว่า 17 ล้านคนต่อเดือน 82.7% อายุระหว่าง 18-44 ปี เป็นเพศหญิง 65% เป็นคนกรุงเทพฯ 45% รองลงไปอยู่ในภาคกลาง 29%

อีกจุดเด่นคือเป็นรายแรกในไทยที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Big Data เจาะผู้ใช้งานแยกย่อยได้ถึงระดับพิกัดที่อยู่ ไม่ใช่แค่เพศหรืออายุ เพื่อให้เอเยนซี่โฆษณาหรือแบรนด์ต่างๆ ส่งแคมเปญโฆษณาได้ตรงเป้าหมายที่สุด ซึ่งกำลังจะต่อยอดไปสู่การสร้างกิจกรรมต่อเนื่องให้กับแบรนด์ต่าง ๆ

ล่าสุด ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “OMU” สำหรับดูมิวสิกวิดีโอออนไลน์ที่รวบรวมจากกว่า 20 ค่ายเพลง ซึ่งมี บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่นำมิวสิกวิดีโอยอดนิยมมากกว่า 5,000 เพลง มาไว้ในแอปนี้ และมีฟังก์ชั่นที่รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่สำคัญคือสะสมแต้มจากการดูมิวสิกวิดีโอเพื่อนำไปแลกของรางวัลต่าง ๆ ได้ อาทิ บัตรกำนัลสตาร์บัคส์ โทรศัพท์มือถือ

“โมเดลธุรกิจของ OTV และ OMU จะ win-win ทั้งเอเยนซี่โฆษณาและเจ้าของแบรนด์ที่ได้โปรโมตตรงกลุ่ม
เป้าหมาย วัดผลได้ชัดเจน และแบ่งรายได้ให้กับทั้งเจ้าของคอนเทนต์ Publisher ที่เป็นพันธมิตรให้ตามยอดวิว และจ่ายให้สูงกว่าที่ยูทูบให้ด้วย ขณะที่ผู้ชมนอกจากจะดูฟรีก็ได้ส่วนแบ่งคืนกลับไปในรูปแต้มสะสมแลกของรางวัล ด้วย โดยจะเริ่มสะสมแต้มได้ตั้งแต่ ธ.ค.นี้”

เป้าหมายจากการเปิดตัว OMU หวังว่า ณ สิ้นปีนี้จะมียอดดาวน์โหลด 3-5 แสนราย สิ้นปี 2561 น่าจะได้ถึง 5 ล้านราย ขณะที่ยอดผู้ชมบนแพลตฟอร์มของ OTV ทั้งหมดน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ทั้งมีแผนจะบริการในกัมพูชาปลายปีนี้ และขยายไปเมียนมาในปีหน้า ตามด้วยอินโดนีเซียและมาเลเซีย

กระจายให้ถึงผู้ชมมากที่สุด

ด้านนายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า นโยบายของแกรมมี่คือหาช่องทางใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์ส่วนนี้ 7-8 รายแล้ว

“ทิศทางโลกไปทาง OTT สตรีมมิ่งวิดีโอ คนไทยกว่า 80% ก็ยังนิยมดูคอนเทนต์ของคนไทยเอง และไม่ได้เลือกดูเฉพาะแพลตฟอร์มดัง ๆ ของต่างประเทศเท่านั้น โลคอลแพลตฟอร์มก็ได้รับความนิยม ยุคนี้ความร่วมมือสำคัญที่สุดแกรมมี่ไม่จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มเอง แต่ต้องทำให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุดและสามารถมีรายได้กลับมา ซึ่งอนาคตอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก จะมีสัดส่วนรายได้จากสตรีมมิ่ง ดิจิทัลคอนเทนต์กว่า 50% แกรมมี่เองก็จะไปตามแนวนั้น”

ปัจจุบันรายได้เกือบ 50% ยังมาจากการแสดงสดและสปอนเซอร์ชิป ส่วนดิจิทัลคอนเทนต์ยังอยู่ในลำดับรอง โดยสตรีมมิ่งคอนเทนต์ รายได้ยังมาจาก youtube มากที่สุด ส่วนที่เป็นออดิโอคอนเทนต์มาจากแพลตฟอร์ม Joox

มั่นใจกฎ กสทช.ไม่กระทบ

ขณะที่การออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลการให้บริการ OTT ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังตรียมดำเนินการ ทั้ง OTV และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เห็นตรงกันว่า ไม่น่าจะกระทบธุรกิจ เพราะบริษัทพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมาย และมีการระมัดระวังเรื่องการเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ อยู่แล้ว

Twitch บุกไทย

ขณะที่นายเฟอดินาน กรูเทียเรซ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ทวิทช์ (Twitch) แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งระดับโลก กล่าวว่า ทวิทช์เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 2 ของโลกที่มีผู้ชมวิดีโอถึง 663 ล้านนาที/เดือน รองจากเน็ตฟลิกซ์ที่มียอดชม 781 ล้านนาที/เดือน โดยทวิทช์เป็นแพลตฟอร์มกลางในการนำเสนอคอนเทนต์ของเหล่าครีเอเตอร์แบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ทั้งพูดคุยกันได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้นจะแตกต่างจากยูทูบที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ คอนเทนต์ 60% จะเกี่ยวกับเกม ที่เหลือจะเป็นด้านไลฟ์สไตล์ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล ซึ่งผู้ที่ใช้งานทวิทช์ทุกคนสามารถเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้หมด เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการสร้างกลุ่มผู้ชม (บรอดแคชเตอร์) ซึ่งเมื่อได้จำนวนที่เหมาะแล้ว ทวิทช์จะติดต่อให้ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างรายได้ และถ้ามีผู้ติดตามมากๆ จะขยับเป็นอินฟูลเอนเซอร์ จะรับโฆษณาเอง ทั้งยังมีส่วนแบ่งจากยอดผู้ติดตามที่เสียค่าใช้บริการรายเดือน ซึ่งในไทยมีกลุ่มนี้แล้ว 20-25 คน และมีครีเอเตอร์สนใจมาร่วมงานกับทวิทช์มากขึ้น ซึ่งในไทยมีหลายรายยึดเป็นอาชีพหลัก และทำเงินได้ถึง 6 หลัก/เดือน

“แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งมีมาก ก็เป็นความท้าทายที่ผลักดันให้ต้องพัฒนา”

ในไทยทวิทช์อัพวิดีโอ 18 ล้านวิดีโอ/เดือน ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาผู้ใช้โตขึ้น 15% ปัจจุบันมีผู้ใช้ 1.4 ล้านคน/เดือน การรับชมเติบโตขึ้น 50% โดยอยู่ที่ 150 ล้านนาที/เดือน หรือเฉลี่ยคนละ 2 ชั่วโมง/วัน

ช่อง 3 ลุย Mello.me

ขณะที่เจ้าของคอน เทนต์รายใหญ่ “ไทยทีวีสีช่อง 3” เดิมได้นำคอนเทนต์ละคร รายการโทรทัศน์ต่าง ๆ เผยแพร่ผ่านช่องทาง youtube Official “Ch3Thailand” โดยอัพโหลดให้รับชมย้อนหลังได้แทบจะทันทีที่รายการจบ แต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Mello สำหรับให้รับชมวิดีโอคอนเทนต์รายการย้อนหลังได้ คู่ไปกับช่องทาง youtube แต่ในการออกอากาศละครหลังข่าวลอตล่าสุดที่เริ่มออกอากาศเมื่อต้นเดือน พ.ย. ได้เปลี่ยนแนวทางการอัพโหลดคอนเทนต์ โดยจะอัพโหลดให้ดูย้อนหลังได้ทันทีที่ www.mello.me ส่วนช่องทางยูทูบจะอัพโหลดหลังจากออกอากาศตามผังรายการไปแล้ว 2 วัน