“วงใน” ต่อจิ๊กซอว์ “ซูเปอร์แอป” ฝันใหญ่ของนัก (ชอบ) กิน

สัมภาษณ์

 

อีกหนึ่งสตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิกที่โตวันโตคืนได้อย่างน่าชื่นชมสำหรับ “วงใน” (Wongnai) จากจุดเริ่มต้นในฐานะ “นัก (ชอบ)กิน” ของกลุ่มผู้ก่อตั้ง เปลี่ยนความรักความชอบมาเป็นธุรกิจดาวรุ่งได้สำเร็จ

แน่นอนว่ากว่าจะมีวันนี้ต้องผ่านบททดสอบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้น

7 ปีผ่านไป นอกจากธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่อง เมื่อไม่นานมานี้ “วงใน” ยังเป็นหนึ่งในห้าบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย จากการสำรวจของ “นิด้า”

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ดังนี้

ADVERTISMENT

Q : วงใน” วันนี้ต่างจาก 7 ปีที่แล้วแค่ไหน

จากพื้นที่แนะนำร้านอาหาร วันนี้เราเป็นพื้นที่ให้คนมาแบ่งปันสิ่งดี ๆ เช่น แนะนำร้านอาหาร, รีวิว, แนะนำสูตรอาหาร, ความสวยความงาม และไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ด้วย ดังนั้นพูดได้ว่า วงในเป็นแพลตฟอร์มสำหรับไลฟ์สไตล์ที่คนไทยใช้เยอะที่สุด และในอนาคตอาจมีเรื่องท่องเที่ยวเข้ามาเสริม ในแง่ยอดดาวน์โหลดหรือสมาชิกวงในมี 3 ล้านคน แต่มีคนใช้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 8 ล้านคน มีร้านค้า 2 แสนร้านค้า มีรีวิวทั้งหมดประมาณล้านรีวิว เพิ่มขึ้นทุกวัน ประมาณวันละ 5 พันรีวิว

ADVERTISMENT

Q : สิ่งที่แตกต่างไปจากช่วงแรก

วงในมีมาแล้ว 7 ปี จากเว็บไซต์มาเป็นแอปพลิเคชั่นในปีที่ 2 เริ่มมีฟีเจอร์ต่าง ๆ มากขึ้น พอปีที่ 4 ขยายมารีวิวอย่างอื่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากร้านอาหาร เช่น รีวิวเรื่องความสวยความงาม เป็นต้น และภายใน 1-2 เดือนนี้ จะเปิดให้คนมาแชร์สูตรอาหารได้ด้วย

Q : การเพิ่มบริการดูจากอะไร

ดูจากขนาดตลาด และความสนใจของคน อย่างเรื่องความสวยความงาม ตลาดเติบโตปีละ 20-30% และคู่แข่งยังน้อย เป็นเรื่องที่ผู้หญิงส่วนใหญ่สนใจ ขณะที่โฆษณาก็อยากมาลงด้านนี้

ต่อไปเราจะทำเรื่องคุกกิ้งเพิ่มด้วย ก็ดูจากการที่ลองทำวิดีโอสอนทำอาหารออกมาแล้วคนชอบ มีคนดูเป็นล้าน ๆ ดังนั้นจึงค่อนข้างมีความชัดเจนเรื่องความสนใจ และเจ้าของผลิตภัณฑ์เองก็สนใจที่จะลงโฆษณา เพราะส่วนหนึ่งคนดูทีวีน้อยลง ดังนั้นจึงแมตช์ระหว่างคนที่ต้องการดู และโฆษณา ซึ่งเราก็สามารถเป็นตัวกลางได้

Q : ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย

เป็นช่องทางหนึ่งให้คนได้มาแบ่งปันว่ากินร้านไหนแล้วอร่อย ดังนั้นถ้าร้านของคุณมีคุณภาพจริง อร่อยจริง วงในก็จะเป็นตัวช่วยให้หาร้านคุณเจอได้ง่ายขึ้น

โดยร้านอาหารไหนที่มีคนนิยมมากที่สุด วงในจะมีสติ๊กเกอร์แปะหน้าร้าน เรียกว่า user choice โดยเลือกจากรีวิวที่มีคะแนนดีที่สุด โดยจะประกาศทุก ๆ สิ้นปี

ปีที่ผ่านมา มีประมาณ 350 ร้าน เราจะมีสติ๊กเกอร์ให้ร้านที่ได้รับเลือกไปติดฟรี สติ๊กเกอร์นี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคเห็นและรู้ว่า เป็นร้านที่ไม่น่าผิดหวัง ไม่ต้องเข้าไปหารีวิวอ่าน เห็นสติ๊กเกอร์ก็แวะได้เลย

Q : จะมีอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

คิดว่าจะมีเพิ่มในปีหน้า แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ความยากของการเพิ่มสิ่งต่าง ๆ เช่น กลุ่มบิวตี้ คือ ช่วงแรกข้อมูลจะน้อย ดังนั้นต้องอาศัยเวลาที่จะสร้างข้อมูล สร้างผู้ใช้ สร้างคอมโมดิตี้ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาเป็นปีในการสร้าง ไม่มีอะไรที่เปิดปุ๊บติดเลย คือทุกอย่างที่เราทำ ต้องอาศัยเวลา อย่างช่วงแรกข้อมูลมีน้อยอาจยังไม่มีประโยชน์ แต่ 3 ปีผ่านไป ข้อมูลเยอะขึ้นก็จะมีประโยชน์

Q : มีเทคนิคการสร้างไหม

เราต้องเข้าใจเขาว่า คอมมิวนิตี้ต้องการอะไร เรามีคอมมิวนิตี้ลีดเดอร์ คอมมิวนิตี้แมเนเจอร์ ที่แต่งตั้งมาจากยูสเซอร์ที่เขียนรีวิวบ่อย ๆ จะมีระดับขั้นให้ใน “วงใน” เหมือนกับเล่นเกม โดยเราก็จะทำความรู้จักกับยูสเซอร์ที่รีวิวเยอะ ๆ เพื่อให้เขามาช่วยดูแลยูสเซอร์ว่า ต้องการอะไร ไม่ชอบอะไร

ตอนนี้มีประมาณ 200 คน ไกด์ไลน์ต่าง ๆ ก็มี แต่ด้วยความที่เป็นสังคมไทยก็จะแตกต่างจากประเทศอื่น เช่น ชอบความสนุกสนาน บางทีก็ชอบความดราม่า เราก็ต้องปรับให้เข้ากับนิสัยคนไทย ซึ่งต้องดูในรายละเอียด บางคนรู้สึกว่าไม่พอใจ คิดว่าเราไปใช้ประโยชน์จากเขา เขาก็จะลบรีวิวไปเลย

Q : เรื่องบิวตี้ก็รวมอยู่ในวงใน

เพราะเทรนด์ของโลก แอปพลิเคชั่นจะต้องเป็น “ซูเปอร์แอป” ต้องรวมทุกอย่างไว้ในแอปเดียว เพราะคนไม่ได้โหลดแอปเยอะ การทำแอปใหม่ขึ้นมาในสมัยนี้แม้ยังมีโอกาส แต่ต้องยอมรับว่า คู่แข่งตอนนี้ไม่ใช่คู่แข่งระดับเล็ก ๆ เวลาส่วนใหญ่ของคนในวันนี้โดนแอปพลิเคชั่นหลัก ๆ เอาไปหมด เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์, ยูทูบ, อินสตาแกรม, กูเกิล ดังนั้นเวลาที่เหลือในแต่ละวันของคนจึงไม่เยอะแล้วที่จะไปใช้แอปอื่น ๆ

ถ้าแอปคุณไม่แข็งแรงพอ คนก็ไม่ใช้ และทุกวันนี้ไลน์, เฟซบุ๊กก็ทำได้แทบทุกอย่าง

Q : แอปใหญ่ ๆ ที่เอ่ยมาก็เป็นคู่แข่ง

แน่นอน เป็นสิ่งที่เราต้องคอยดูตลอด เพราะเราต้องแย่งชิงเวลาของผู้บริโภคว่า เขาจะใช้แอปเราบ่อยแค่ไหน วงในอยากเป็นซูเปอร์แอปในด้านไลฟ์สไตล์ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเวลาที่ทำแบบนั้น ปัจจุบันนี้คนใช้เราโดยเฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะหาร้านอาหาร ดังนั้นเราต้องเพิ่มเรื่องอื่น ๆ เข้าไปเพื่อให้คนเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น เรื่องการทำอาหาร เพราะมีกลุ่มคนที่ต้องทำกินเองทุกวัน อาจจะเข้ามาหาสูตรที่นี่ เพราะแค่หาร้านอาหารคงจะไม่พอ

Q : วงการสตาร์ตอัพเปลี่ยนไปแค่ไหน

ตอนแรกจากที่ไม่มีเลย ตอนนี้กลายเป็นยุคที่เห่อสตาร์ตอัพ ซึ่งอยากให้คนโฟกัสที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณของสตาร์ตอัพ เพราะเวลาของคนจำกัด คนไม่สามารถใช้ทุกแอปได้

ดังนั้นจำนวนคนที่ประสบความสำเร็จได้จึงมีจำนวนจำกัด แต่ละประเทศมีได้แค่ 5-10 ราย ดังนั้นการไปเน้นที่ปริมาณไม่มีประโยชน์ สุดท้ายก็จะมาเจอคู่แข่งเดิม ๆ และเป็นฟังก์ชั่นหลัก ๆ ที่คนใช้ เช่น แชต, เสิร์ช ส่วนเซอร์วิสย่อย ๆ จะรวมอยู่ในแอปพวกนี้

Q : มุ่งไปไลฟ์สไตล์คู่แข่งเยอะไหม

เยอะ ใคร ๆ ก็อยากทำเรื่องอาหาร แต่ขณะเดียวกันตลาดมันก็ใหญ่

Q : แผนระดมทุน

เราระดมทุนไปแล้ว 3 ครั้ง คิดว่าพอแล้ว ต่อไปภายใน 2 ปี มีเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ หรือ mai

Q : ไม่รอเข้าตลาดเฉพาะสตาร์ตอัพ

โดยส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีความต้องการขนาดนั้น เนื่องจากสตาร์ตอัพที่มีคุณภาพมีไม่เยอะในไทย และถ้ามีคุณภาพจริง ๆ คงไม่มีใครยอมขายหุ้น เพราะสตาร์ตอัพโตเร็วหลายเท่า ดังนั้นหุ้นที่จะขายจะมาจากบริษัทที่ไม่น่าจะโตหรือเป็นซอมบี้ เอ็กซิทไม่ได้เลยต้องมาขายในตลาดนี้ หมายความว่าคงจะไม่มีของที่ดีขาย และยิ่งสตาร์ตอัพมีน้อย น่าจะประมาณ 600 บริษัท ดังนั้นจะมีใครมาเทรดสักเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเอาไอเดียนี้มาจากไหน เพราะสตาร์ตอัพไม่ได้ต้องการ

Q : สตาร์ตอัพต้องการอะไร

ส่วนใหญ่เราจะขอเรื่องการแก้กฎหมายให้ทำธุรกิจได้สะดวกขึ้น เช่น การให้หุ้นพนักงาน เนื่องจากต้องแข่งขันกันดึงคนเก่ง ๆ เข้ามา และเรื่องของภาษีที่พยายามทำให้เทียบเท่าสิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง เช่น เป็นจุดศูนย์กลาง ขนาดประเทศก็โอเค การท่องเที่ยวก็ได้รับความนิยม

Q : เรื่องเงินทุนรัฐต้องช่วยไหม

รัฐไม่จำเป็นต้องลงมาช่วยเอง เพราะว่ามีระบบที่รองรับคือ VC อยู่ พวกนี้พร้อมจะลงทุนถ้าคุณเจ๋งจริง ดังนั้นควรปล่อยเป็นไปตามกลไก เพราะของไม่ดี ไม่ควรได้รับเงินทุน ควรปล่อยให้ตายไป ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเพื่อให้มีจำนวนมาก เพราะสุดท้ายเป็นแค่การยืดเวลาให้ตายช้าลง มองว่าธุรกิจตายไปดีแล้ว เพราะจะได้ไปทำอย่างอื่นต่อให้ดีขึ้น มากกว่าไปทุ่มอยู่กับสิ่งที่ไม่ดี

Q : มีปัญหาขาดบุคลากรไหม

ขาดมาก โดยเฉพาะโปรแกรมเมอร์ เป็นปัญหาระดับชาติที่จะไปไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ก็เพราะเรื่องนี้ นักพัฒนาในไทยมีเพียง 50,000-100,000 คนเท่านั้น ทั้งที่ควรจะมีสักล้านคน ถ้าจะทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัพเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนประเทศได้

เราเองแม้จะทำมานานก็ยังมีปัญหาเรื่องโปรแกรมเมอร์ สตาร์ตอัพรายใหม่ ๆ ก็ยิ่งดึงดูดโปรแกรมเมอร์ยาก ดังนั้นจะสเกลลำบาก ถ้ามีผู้ใช้งานเยอะ ๆ

บริษัทอย่างเท็นเซ็นมีโปรแกรมเมอร์เป็นหมื่นคน ในไทยเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีบริษัทไหนมีโปรแกรมเมอร์มากเท่านี้ ดังนั้นเราก็จะสู้กับประเทศอื่น ๆ ลำบาก เพราะเขามีฐานแรงงานที่แข็งแรงมาก เช่น อินเดียมีโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีเยอะ หรือจีนที่ขยันมาก ดังนั้นเขาจึงสามารถแข่งขันในระดับโลกได้

ดังนั้นประเทศไทยอย่าหวังที่จะเป็นบริษัทระดับโลกได้ ถ้าไม่มีโปรแกรมเมอร์จำนวนมาก

Q : วงในแก้ปัญหาอย่างไร

ก็ต้องประชาสัมพันธ์อย่างหนักทุ่มเงิน และให้สิทธิพิเศษไม่งั้นดึงดูดคนไม่ได้ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง แต่ยังไม่พอ เนื่องจากมีบริษัทอื่น ๆ ในตลาดที่ทุ่มเหมือนเราหรือมากกว่าเรา เช่น บริษัทต่างชาติในไทย

นอกจากนี้ จำนวนโปรแกรมเมอร์ในไทยก็มีไม่เยอะอยู่แล้ว แต่การที่เป็นแบรนด์ไทยก็ดึงดูดคนไทยได้เหมือนกัน สำหรับคนที่อยากทำแอปให้คนไทยใช้ อยากเห็นแอปในมือเพื่อน

ปัจจุบันเรามีโปรแกรมเมอร์ 20 กว่าคน จากความต้องการ 40 กว่าคน มีพนักงานทั้งหมด 170 คน สิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น 185 คน ส่วนใหญ่เป็นทีมคอนเทนต์ เพราะตอนนี้คนนิยมดูวิดีโอ

ปัญหาเรื่องคนเราทำหลายอย่าง เช่น รับอินเทิร์นชิปเยอะมาก และหวังว่าให้เขามาฝึกงานแล้วเขาจะทำต่อ หรือบางคนมาทำงานกับเราทำไป เรียนไปด้วย มีการสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย เช่น ทำโปรเจ็กต์กับจุฬาฯ

ในบทบาทของสมาคมสตาร์ตอัพก็ทำไวท์เปเปอร์เวอร์ชั่น 2 เพื่อเสนอรัฐบาลว่าจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องเจอ เช่น เวียดนามมีแผนสร้างโปรแกรมเมอร์ 1 ล้านคน เป็นต้น หรืออยากให้รัฐนำนักเรียนทุนกลับมาใช้ทุนโดยนำมาช่วยสตาร์ตอัพ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องระยะยาว

Q : ความท้าทายส่วนตัว

เรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นความท้าทายในระดับกลางตอนนี้ที่อยากผลักดันให้ได้ เพราะยากหลายอย่าง เช่น บริหารให้บริษัทอยู่ได้ด้วยตนเอง และมีผลประกอบการที่ดี

เราอยากทำให้เห็นว่า เทคสตาร์ตอัพไทยสามารถเอ็กซิทได้ ซึ่งเงินที่ได้จากการเข้าตลาดเราอาจจะไปซื้อสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ต่อ เพื่อสร้างเทคเอ็มไพร์ของประเทศไทย เหมือนเท็นเซ็นอะไรแบบนี้

เราไม่มีแผนขยายไปต่างประเทศ เพราะมองว่าตลาดไทยใหญ่พอ

Q : การเติบโตของรายได้ของบริษัท

โต 2 เท่าทุกปี ปีแรก 50 ล้านบาท ปีที่แล้ว 90 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าน่าถึง 160 ล้านบาท และอีก 2 ปี น่าจะได้ 300 ล้านบาท

รายได้หลักมาจากโฆษณา แต่ตอนนี้หลากหลายมากขึ้น จากตอนแรกต้องพึ่งร้านอาหารตอนนี้มีแบรนด์ต่าง ๆ เยอะขึ้น จะมีเรื่องการทำอาหาร (คุกกิ้ง) และบิวตี้มาเสริม

รายได้จากโฆษณาในภาพรวมในบ้านเรา ถ้านับ 100 บาท เฟซบุ๊กน่าจะได้ไป 50 บาท กูเกิล 25 บาท ไลน์อีก 10 บาท อีก 15 บาทเป็นของเว็บไทยไปแบ่งกัน ซึ่งมองว่าน่าอนาถมาก อย่างวงในจ่ายให้เฟซบุ๊กเดือนเป็นล้านบาท ดังนั้นสตาร์ตอัพที่จะเอาเงินจากโฆษณาต้องทำให้ลึกขึ้น แตกต่าง และโลคอลไลซ์ เพราะเฟซบุ๊กไม่ได้ทำอะไรตามใจคนไทยขนาดนั้น

Q : แผนจะไปทำอย่างอื่นไหม เช่น แชต

ไม่มี เพราะไม่มีโอกาส ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าในอนาคตมีแพลตฟอร์มที่จะมาแทนเฟซบุ๊ก หรือไลน์ และเราสามารถทำได้ทันในรอบหน้าก็อาจมีโอกาส แต่ถ้าทำอะไรต้องไปแข่งกับไลน์หรือเฟซบุ๊กไม่โง่ก็บ้า

Q : ถ้าเข้าตลาดแล้วจะยังบริหารต่อไหม

ทำต่อ เพราะตอนนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยิ่งทำยิ่งสนุก ตอนนี้ก็ไปไกลกว่าเป้าหมายแล้ว จากที่ทำเพราะอยากรวย ตอนนี้พอรู้อะไรมากขึ้น เราก็อยากทำเพื่อประเทศ อยากทำเพื่อลูกน้อง เพื่อเทคสตาร์ตอัพ เจอเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตนเองมันทำให้เรามีแรงฮึด ผ่านช่วงที่ท้อที่สุดเป็นช่วง 2 ปีแรก เพราะทำแล้วมันไม่ขึ้น แต่มาดีตอนปีที่ 3 จากนั้นก็สนุกมาเรื่อย ๆ

Q : จุดเปลี่ยนจากอยากรวยมาทำเพื่อประเทศ

เริ่มเห็นชัดในปีนี้ เพราะเรามองว่าจริง ๆ แล้วคู่แข่งไม่ใช่สตาร์ตอัพไทย แต่เป็นต่างชาติทั้งนั้น ตอนนี้คนใช้อยู่ไม่กี่แอป เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ กูเกิล ไอจี ยูทูบ ไม่มีแอปไทยเลย ดังนั้นวงในจึงอยู่ในตำแหน่งที่ไปแข่งกับแอปพลิเคชั่นระดับโลก ทำให้ความคิดเราเริ่มเปลี่ยน

เราผ่านจุดที่จะขายบริษัทมาแล้ว เพราะเราเองก็มีกำไร ถามว่าการมีเงิน 100 ล้านบาท ชีวิตนี้ไม่น่าจะใช้หมด ดังนั้นเงิน 100 ล้านหรือพันล้าน มีค่าเท่ากัน ถ้าขายบริษัทเพื่อเงินคงไม่เท่ เท่ากับการเป็นบริษัทแรกที่เข้าตลาดหุ้นได้ ทำให้เทคสตาร์ตอัพในไทยมีความหวัง

ดังนั้นเงิน 100 ล้าน 1,000 ล้านก็ยังตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้ เราอยากเป็นแอปที่คนไทยใช้ทุกวันเหมือนเฟซบุ๊ก เพียงแต่ตอนนี้ยูสเคสยังน้อยอยู่ ทำได้แค่ค้นหาร้านอาหาร ซึ่งต้องใช้เวลาในการเพิ่ม และเทคโนโลยีเราอาจยังสู้ไม่ได้ เราต้องถึกกว่า ต้องลงลึกกว่า ต้องสู้ด้วยวิธีอื่น

Q : มีอะไรจะฝากถึงสตาร์ตอัพไหม

แค่ไม่อยากให้มองว่าสตาร์ตอัพเป็นแฟชั่นและทำแล้วเลิก อยากให้มองว่าต้องพยายามและทำสิ่งที่มีคุณภาพจริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ พยายามสร้างมูลค่าให้ผู้บริโภคให้ได้ ที่เหลือจะตามมาเอง ไม่ใช่ไปโฟกัสที่การระดมทุนหรือ พี.อาร์.