ดีแทค เปิดงบฯไตรมาส3 ลูกค้ารายเดือนลดลง ลุยขยายโครงข่ายต่อ

ดีแทค เปิดงบไตรมาส3 ลูกค้ารายเดือนลดลง ลุยขยายโครงข่ายต่อ

ดีแทคเปิดผลประกอบการไตรมาส 3 โควิดพ่นพิษ รายได้ลด 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลูกค้ารายเดือนลดลง 5 พันราย ลุยขยายโครงข่ายต่อ

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้แจ้งผลดำเนินการไตรมาสที่ 3/2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า การกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ส่งผลกระทบต่อกำลังการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ต้องปิดสาขาลงกว่า 1 เดือน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อรายได้จากการให้บริการของบริษัท

โดยรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมคำเชื่อมต่อโครงข่ายในไตรมาส 3/2564 ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไร 832 ล้านบาท และช่วง9เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2564) มีกำไร 3,184 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบ แต่ดีแทคยังสามารถที่จะบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่ท้าทาย โดยดีแทคยึดมั่นเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทตามที่ได้วางแผนไว้ เช่น การนำเสนอเครือข่ายที่เต็มไปด้วยความคุ้มค่า การดำเนินงานโดยเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น

สำหรับไตรมาส 3/2564 ดีแทคมีสถานีฐานบนเครือข่าย 700 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 11,800 สถานีฐาน ที่ให้ประสบการณ์การใช้งาน 4G ทั่วประเทศ และ 5G ในบางพื้นที่ ซึ่งบริษัทได้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าและผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ ด้วยการขยายเครือข่ายที่รวดเร็วขึ้น บริษัทคาดว่าจะสามารถเพิ่มความครอบคลุมของเครือข่ายให้ครอบคลุมถึง 93% ของจำนวนประชากรได้ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม สิ้นไตรมาส 3/2564 ดีแทคมีสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-2300 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 21,200 สถานีฐาน ซึ่งรองรับการขยายความจุเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 19.3 ล้านเลขหมาย ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2.6 หมื่นรายเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64

โดยจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินเท่ากับ 3.1 หมื่นราย และกลุ่มผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนลดลง 5 พันราย ทั้งนี้ จำนวน ผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32 % ของจำนวนผู้ใช้บริการรวม