ต่อยอด “หมอชนะ” รับเปิดประเทศ เชื่อมข้อมูล “Thailand Pass”

แอปพลิเคชันหมอชนะ
Jack TAYLOR / AFP

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ประเทศไทยก็จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศตามนโยบายรัฐบาล 1 พ.ย. 2564 โดยจะเริ่มรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเข้าไทยได้ โดยไม่กักตัวรวม 46 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย กัมพูชา มาเลเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี จีน เป็นต้น

ขณะที่ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะยกเลิกระบบการลงทะเบียนเพื่อขอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (certificate of entry : COE) มาใช้ระบบใหม่ ซึ่งเป็นระบบ web-based เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว จัดทำโดยสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพฐ.

โดยนักท่องเที่ยวจะกรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง ใบรับรองการฉีดวัคซีน ใบรับรองการประกันสุขภาพ COVID-19 ยืนยันการจองโรงแรม สำเนาวีซ่าไทย ผ่านเว็บไซต์ Thailand Pass จากนั้นก็จะได้รับ QR code Thailand Pass ID เพื่อแสดงต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย

ถัดจากนั้น กระทรวงดีอีเอสจะเข้ามารับช่วงต่อในส่วนของแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หลังเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว

“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้ จะต้องโหลดแอป “หมอชนะ” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการติดตามตัวนักท่องเที่ยว

โดยดีอีเอสกำลังปรับฟีเจอร์ให้ใช้งานง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยว พร้อมกับเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบจากกรมควบคุมโรคเข้ามาไว้ที่แอป “หมอชนะ” ด้วย แต่ยังคงฟีเจอร์การส่งสัญญาณโลเคชั่นของนักท่องเที่ยว

“ก่อนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยต้องกรอกข้อมูลผ่านเว็บ ThailandPass ของ สพร. หลังเข้ามาแล้วต้องดาวน์โหลดแอปหมอชนะ โดยระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อโควิดแบบ RT-PCR จะเข้าพักที่โรงแรม SHA+ หรือAQ 1 คืนซึ่งกรมควบคุมโรคจะแจ้งผลผ่านแอปหมอชนะ เมื่อได้สถานะเป็นสีเขียว ซึ่งหมายถึงมีความเสี่ยงต่ำ ก็จะเดินทางท่องเที่ยวต่อได้”

ปลัดกระทรวงดีอีเอสย้ำว่า หมอชนะเวอร์ชั่นใหม่เป็นการต่อยอดมาจากโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ โดยตัดลดความซ้ำซ้อน ทำให้โหลด “หมอชนะ” แอปเดียวจบไม่ต้องโหลดหลายแอปหรือต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์อื่นอีก เพราะได้เชื่อมข้อมูลทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งผลตรวจเชื้อโควิดจากกรมควบคุมโรค การวัดอุณหภูมิร่างกายจากโรงแรม SHA+ หรือ AQ เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้งานได้ง่ายขึ้น

ต่างจากที่ใช้ในโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่ต้องโหลด “หมอชนะ” แล้วยังต้องจองตรวจหาเชื้อโควิดผ่านระบบ Phuket swab appointment system (PSAS) และขณะที่เข้าพักที่โรงแรมระบบ SHA+ ในภูเก็ตก็ต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ต้องสแกนรหัส หมอชนะ QR ทุกวัน

“แอปหมอชนะ ไม่ละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสหภาพยุโรป (GDPR) และข้อมูลมีความปลอดภัย โดยหน่วยงานที่จะเข้าถึงและนำข้อมูลนี้ได้มีเพียงกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่มีหน่วยงานอื่นนำไปใช้แต่อย่างใด”

การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแอป “หมอชนะ” และกรมควบคุมโรค ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการผสานการทำงาน เชื่อมข้อมูลระหว่างภาครัฐเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเพื่อลดความซ้ำซ้อน และขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลและเศรษฐกิจของประเทศ

ก่อนหน้านี้ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” เป็นแอปที่ดีอีเอสรับช่วงต่อมาจากกลุ่มผู้พัฒนาเดิม โดยใช้คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่จะเพิ่มมากขึ้น และได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) นำแอป “หมอชนะ” เข้าไปใช้โครงการภูเก็ตเเซนด์บอกซ์

“ดีอีเอสไม่มีหน้าที่ในการทำแอปพลิเคชั่น มีแค่แอปหมอชนะเท่านั้นที่รับช่วงมาดูแลต่อทั้งต้องการผลักดันแนวคิด one country one platform ที่หมายถึงการเชื่อมข้อมูลทุกอย่างเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดได้”