TDRI สแกนดีล “ทรู-ดีแทค” แนะรัฐแก้กฎหมายลดผูกขาด-เพิ่มรายใหม่

true dtac

แม้ดีลควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือของกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ดีแทค และเครือ ซี.พี. บริษัทแม่กลุ่มทรู จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้คน และก็อย่างที่รู้กันว่าบริการโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่แค่การสื่อสารด้วยเสียงหรือข้อความเท่านั้น ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมาก จนเรียกได้ว่าแทบจะเป็นทุกสิ่งที่จำเป็นทั้งต่อการดำเนินชีวิต และธุรกิจ

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เสนอข้อคิดเห็นต่อการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทคระบุว่า แม้วัตถุประสงค์ของการควบรวมจะมีหลายมิติ แต่ไม่ได้ส่งผลเฉพาะผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ยังกระทบทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ผู้บริโภค, บริษัทสตาร์ตอัพ, ซัพพลายเออร์ หรือแม้แต่ผู้กำกับดูแลอย่างหน่วยงานรัฐด้วย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ

ไล่เรียงผลกระทบด้านลบ

ในแง่มุมที่มีผลกับผู้บริโภคนั้นคาดว่าจะทำให้โครงสร้างตลาดโทรศัพท์มือถือถอยหลังกลับไป 20 ปี หรือหลังปี 2547 ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ 2 ราย คือ เอไอเอส และดีแทค

“ผู้ใช้บริการในอดีตคงจำได้ว่า ผู้ให้บริการสามารถเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง กรณีผู้ให้บริการรายหนึ่งล็อก IMEI (รหัสประจำเครื่อง) ผูกขาดการใช้เครื่องโทรศัพท์ เป็นต้น”

“และไม่ใช่แค่ผู้ใช้บริการของทั้ง 2 ค่ายเท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่ลดช้าลง แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้บริการของเอไอเอสด้วย เพราะโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปจะทำให้โปรโมชั่นต่าง ๆ ลดน้อยลง ราคาแพ็กเกจจะถูกลงช้า ส่วนกลุ่มสตาร์ตอัพต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากการที่ผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหายไป 1 ราย เหลือ 2 ราย”

ขณะที่อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ และคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับทั้งกลุ่มทรู และดีแทคจะลดลงตามไปด้วย โดยอำนาจต่อรองต่าง ๆ จะเทไปยังบริษัทใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกัน หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็จะได้รับผลกระทบ หากมีการเปิดประมูลคลื่น เช่น 6G ในอนาคต เพราะผู้เข้าประมูลก็จะลดจำนวนลง ทำให้รายได้เข้ารัฐลดน้อยลงตามไปด้วย

บาลานซ์ธุรกิจ-ผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม หากการควบรวมดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อทำวิจัยพัฒนา และการลดต้นทุน ทั้งในแง่การใช้คลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอุปกรณ์ และความซ้ำซ้อนต่าง ๆ ถือเป็นเหตุผลที่ดีให้มีการควบรวมกัน แต่ต้องนำผลดีมาบาลานซ์กับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคด้วย

“ดีลนี้เป็นดีลใหญ่ที่มีผลกระทบใหญ่ ผลดีน่าจะเกิดกับธุรกิจมากกว่าเพราะต้นทุนการทำธุรกิจจะลดลง มีอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าเพิ่มขึ้น กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาดโทรคมนาคมไทย และน่าเป็นห่วงมาก เพราะทางเศรษฐศาสตร์มีการวัดดัชนีการกระจุกตัว หรือที่เรียกว่า HHI ถ้าเยอะจะอันตราย”

ดร.สมเกียรติอธิบายเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับดัชนีการกระจุกตัวทางเศรษฐศาสตร์ (Herfindahl-Hirschman Index) หรือ HHI ที่มีการวัดก่อนที่จะมีการประกาศดีลควบรวมพบว่าดัชนีการกระจุกตัวของธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ 3,659 จาก 10,000 ถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างแข่งขันน้อย แต่หากควบรวมแล้ว ค่าดัชนีจะพุ่งเป็น 5,000 อยู่ในระดับที่น่าตกใจ

ดัชนีชี้วัดผูกขาดแต่ละธุรกิจ

เทียบกับการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือทั่วโลก เช่น ซัมซุง ออปโป้ เสี่ยวหมี่ มีดัชนีการกระจุกตัวอยู่ที่ 2,000 เท่านั้น หรือการแข่งขันในตลาดเบียร์ทั่วโลกจะพบว่าดัชนีจะอยู่ 2,000 ขณะที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 1,500 ดังนั้น ค่าดัชนีการกระจุกตัวของค่ายมือถือในไทย หากการควบรวมแล้วเสร็จที่จะกระโดดไปถึง 5,012 เพิ่มขึ้น 1,353

จึงเท่ากับว่าโครงสร้างตลาดมือถือในประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่การผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย โดยผู้ได้รับผลกระทบด้านบวก คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย

“ดีลนี้ไม่ว่าจะเป็น equal partnership หรืออะไรก็ตาม แต่ไส้ใน คือการควบรวมกิจการ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 รายเหลือ 2 ราย ผู้นำตลาดปัจจุบันคือ เอไอเอส เดิมมีส่วนแบ่งตลาดในเชิงรายได้ 47% ทรู 30% และดีแทค 22%”

“เมื่อควบรวมกันจะเหลือรายใหญ่ 2 ราย คือ เอไอเอส ที่ส่วนแบ่งตลาด 47% และทรู-ดีแทค รวมกันจะเป็น 52% เป็นโครงสร้างตลาดที่น่าเป็นห่วง เพราะดัชนีวัดการกระจุกตัวทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึงการมีผู้เล่นเหลือน้อยราย”

จี้แก้กฎหมายลดผูกขาด-เพิ่มแข่งขัน

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. คือต้องเพิ่มการแข่งขันในตลาด และลดการผูกขาด ด้วยการใช้อำนาจทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 21

ที่ระบุว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ

1.การอุดหนุนการบริการ

2.การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

3.การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม

4.พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน

5.การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

ประธานทีดีอาร์ไอย้ำว่า แม้ กสทช.ชุดปัจจุบันจะยังเป็นชุดรักษาการ แต่ต้องนำกฎหมายมากางดูในรายละเอียด และวิเคราะห์ตลาดตามอำนาจทางกฎหมายที่มีแล้วเร่งออกกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น เพราะหากปล่อยให้เกิดการควบรวมกันจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน หรือกรณีที่ปล่อยให้เกิดการควบรวมแล้ว กสทช.ก็ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด

เช่นกันกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะต้องกลั่นกรองดีลการควบรวมดังกล่าวอย่างเข้มงวด หรือหากทั้ง 2 หน่วยงานมีอำนาจทางกฎหมายไม่เพียงพอก็ต้องแก้กฎหมายโทรคมนาคม หรือการเปิดให้เกิดการประมูลคลื่นใหม่ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด โดยหน่วยงานรัฐต้องเริ่มดำเนินการทันที