7 ที่สุด “ความล้มเหลว” ด้านเทคโนโลยี ป่วนโลกไอทีปี 2564

เฟซบุ๊ก
ภาพ Pixabay

สรุป 7 ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยีตลอดปี 2564 เฟซบุ๊กติด 1 ใน 7 ทั้งจากกรณี ข้อมูลรั่วไหล-พื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ ขณะที่การโจมตี Ransomware กลายเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจ

วันที่ 1 มกราคม 2565 ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีเกิดขึ้นกันบ้าง แต่ตลอดระยะเวลา 1 ปีของปี 2564 โลกเทคโนโลยีกลับวุ่นวายอย่างมากท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่สุดแห่งความล้มเหลว และแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเทคโนโลยีมีด้วยกัน 7 เรื่อง

สำนักข่าว CNN รายงานว่า ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่มีทั้งความหวังและความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผู้คนได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พบกับปัญหาจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ที่ทำให้ความผิดพลาดและล้มเหลว ปั่นป่วนโลกของไอทีตลอดปี 2564

เรื่องที่ 1 การรั่วไหลของข้อมูลจำนวนมากของ Facebook และ LinkedIn

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ได้เปิดเผยว่าข้อมูลส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ วันเกิด รวมถึงอีเมลของผู้ใช้ Facebook มากกว่า 500 ล้านราย โดนเผยแพร่ และโพสต์ลงบนเว็บไซต์ของเหล่าแฮกเกอร์

อย่างไรก็ตาม Facebook ได้อธิบายว่าข้อมูลที่รั่วไหลนั้นเป็นข้อมูลที่เคยรั่วไหลมาก่อนในปี 2563 ที่ผ่านมาโดยมี “ผู้ไม่หวังดี” ปล่อยข้อมูลเหล่านี้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้รับการแก้ไขไปแล้ว

ถึงจะอย่างนั้นแต่เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีช่องโหว่ในการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ใช้งานได้หลายทาง

ในเดือนเดียวกัน LinkedIn ก็ออกมายอมรับเช่นกันว่ามีการนำข้อมูลสาธารณะของผู้ใช้งานราว 500 ล้านรายไปขายบนเว็บไซต์ของแฮกเกอร์เช่นเดียวกันกับ Facebook โดยระบุว่า ฐานข้อมูลที่นำไปขายเหล่านั้น เป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากหลายเว็บไซต์ และหลายบริษัท และอ้างว่าไม่ถือเป็นการละเมิดข้อมูลของบริษัทหรือเป็นความผิดของบริษัทแต่อย่างใด

เรื่องที่ 2 ความผิดพลาดในการระบุตัวนักวางเพลิงของสตาร์ตอัพชื่อดัง Citizen

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อในเดือนพฤษภาคม เมื่อ Citizen บริษัทสตาร์ตอัพแจ้งเตือนอาชญากรรมแบบ real-time ระบุตัวนักวางเพลิงในเหตุการณ์ไฟป่าในกรุงลอสแอนเจลิส พร้อมกับเสนอเงินรางวัลเป็นเงิน 30,000 เหรียญสหรัฐให้กับผู้ที่ที่สามารถระบุตัวผู้ที่ก่อเหตุได้

ต่อมามีรูปภาพชายคนหนึ่งเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์ม OnAir ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มของ Citizen เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปควบคุมชายดังกล่าว แต่หลังตรวจสอบแล้วกลับพบว่า เขาไม่ได้เป็นผู้วางเพลิงทำให้ Citizen โดนกล่าวหาว่าขาดการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ลงโซเชียล

เรื่องที่ 3 ปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการโจมตีของ Ransomware

การโจมตีของแรนซัมแวร์ โดยแฮกเกอร์เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และจับบริษัทเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดเป้าหมายไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

1 ในการโจมตีครั้งใหญ่เกิดขึ้น ในเดือนพฤษภาคม เมื่อ Colonial Pipeline หนึ่งบริษัทท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดนบังคับให้ต้องหยุดการดำเนินงาน หลังระบบโดนโจมตีจาก “แฮกเกอร์” ที่เข้าไปในระบบได้ผ่านพาสเวิร์ดของบริษัท ซึ่งซีอีโอ Colonial Pipeline ออกมายอมรับว่าจ่ายเงินไป 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อไถ่ระบบของบริษัทคืน

เรื่องที่ 4 ไฟฟ้าดับสองครั้งทำให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม

กรณีนี้เกิดขึ้นถึงสองครั้งภายในไม่ถึงสองสัปดาห์ เมื่ออินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาลล่ม แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ช่วยตอกย้ำว่าเราพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากเพียงใด

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย. เมื่อเว็บไซต์นับไม่ถ้วนรวมถึง Reddit, CNN, Amazon และเว็บไซต์อื่น ๆ อีกหลายแห่งต้องหยุดชะงัก เนื่องจากการส่งเนื้อหาขัดข้อง และเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย. กับบริษัท Akamai Technologies ผู้ให้บริการจัดการเว็บไซต์รายใหญ่ของโลก สร้างความเสียหายให้เว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึงเว็บไซต์ Southwest Airlines, United Airlines, Commonwealth Bank of Australia และ Hong Kong Stock Exchange

แม้ Akamai Technologies จะแจ้งให้ลูกค้าทราบปัญหาภายในไม่กี่วินาที และสามารถแก้ไขได้ภายในสี่ชั่วโมง

(และบริษัทกล่าวว่าลูกค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ออฟไลน์เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่เพียงอย่างเดียวในปีนี้ กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมกับบริการคลาวด์คอมพิวติ้งของ Amazon ที่ประสบปัญหาการหยุดทำงานไปถึง 3 ครั้ง และนำไปสู่ปัญหาสำหรับ Disney+, Slack, Netflix, Hulu และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงกระทบกับบริการโลจิสติกส์ของ Amazon ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่สำคัญทั้งหมดอีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียจำเป็นต้องยกเลิกการซื้อพันธบัตรในวันนั้นทันที โดยให้เหตุผลว่า “เกิดการขัดข้องทางเทคนิค” และยังพบการร้องเรียนของผู้ใช้งานเว็บไซต์ของสายการบินเซาธ์เวสต์ แอร์ไลน์ส, เดลต้า แอร์ไลน์ และออโตเมติก ดาต้า โปรเซสซิง อิงค์ อีกด้วย

เรื่องที่ 5 ว่าด้วย Facebook โดยเฉพาะ

อาจกล่าวได้ว่า ปี 2564 เป็นปีที่ทั้งแย่ และแย่มาก ของยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์ก Facebook

วันจันทร์ที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา Facebook ที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น Meta ต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่ เมื่อ “ฟรานเชส เฮาเกน” (Frances Haugen) อดีตพนักงานได้เปิดเผยตัวตนของเธอในรายการ ’60 Minutes’ ของ CBS News โดยระบุว่า

บริษัทรู้ดีว่าโซเซียลเน็ตเวิร์คของพวกเขามีการนำไปใช้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ คำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชัง และความรุนแรง โดยก่อนหน้านี้ “เฮาเกน” คนนี้แหละที่แหล่งข่าวนิรนามที่ปล่อยเอกสารเกี่ยวกับการวิจัยและการสื่อสารภายในหลายพันหน้าให้กับ The Wall Street Journal หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Facebook Files

นอกจากให้สัมภาษณ์สื่อแล้ว เธอยังให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภาว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับการหารายได้มากกว่าความปลอดภัย และสุขภาพประชาชน

หลังเหตุการณ์นั้นไม่กี่ชั่วโมง เฟซบุ๊กยังเผชิญมรสุมลูกที่สอง เมื่อเครือข่าย เฟซบุ๊ก ไอจี และ WhatsApp พร้อมใจกันล่มเป็นเวลาหลายชั่วโมง ถือเป็นการล่มครั้งมโหฬารที่สุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้บริษัทสูญรายได้จากการขายโฆษณาจำนวนมหาศาล จนเป็นเหตุให้นักลงทุนไม่พอใจจนส่งผลให้หุ้นเฟซบุ๊กร่วงอย่างหนัก

ว่ากันว่าระดับความโกรธเกรี้ยวของสังคมที่มีต่อเฟซบุ๊กในครั้งนี้น่าจะอยู่ในสเกลเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2018 เมื่อพบว่า เฟซบุ๊กปล่อยให้ Cambridge Analytica เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้กว่า 87 ล้านคนเพื่อให้ทีมงานโดนัลด์ ทรัมป์ ยิงโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายระหว่างหาเสียงปี 2016

เรื่องที่ 6 บทเรียนของ Zillow เมื่อ AI ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

Zillow เป็นบริษัทสตาร์ตอัพซื้อขายบ้านชื่อดังที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการประเมินราคาบ้านภายใต้ชื่อ บริการ “Zestimate” เป็นระบบประเมินราคาบ้านแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI ที่บริษัทเคลมว่าช่วยประหยัดเวลาให้เจ้าของบ้านที่อยากร่วมโครงการ Zillow Offers เพราะกดประเมินราคาบ้านได้ง่าย ๆ ในคลิกเดียว

แต่หลังเปิดตัวได้ 8 เดือน ก็ประกาศปิดโครงการ Zillow Offers ลง หลังขาดทุนกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการซื้อบ้านราคา “แพง” เกินไป ส่งผลให้ต้องเลย์ออฟพนักงาน 2,000 กว่าคน หรือกว่า 25% ของทั้งบริษัทส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงหนักมาก

ความล้มเหลวของ Zillow ไม่ได้เป็นบทเรียนสำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเสี่ยงที่ทุกวงการควรกตระหนักถึงเมื่อมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยตัดสินใจทางธุรกิจในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ที่สุดเรื่องที่ 7 เกิดกับระบบ Full Self-driving ของ Tesla

“อีลอน มัสก์” ซีอีโอ Tesla โปรโมตระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Full Self-driving ในรถไฟฟ้าของบริษัทมาเป็นเวลานาน แต่จนถึงปลายปี 2564 ก็ยังไม่มีระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบออกมา มีเพียงฟีเจอร์ที่ช่วยผู้ขับขี่ทำให้ผู้ใช้ยังต้องนั่งประจำที่คนขับและคอยควบคุมพวงมาลัย ทั้งยังมีผู้ที่ได้เข้าร่วมทดสอบระบบดังกล่าวค่อนข้างน้อยมาก รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงิน 10,000 เหรียญสหรัฐต่อคนเพื่อเข้าถึงฟีเจอร์เวอร์ชั่น “เบต้า”

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ขับขี่ที่เคยทดลองใช้ระบบนี้บอกกับ CNN Business ด้วยว่าระบบ Full Self-driving ของ Tesla ให้ผลลัพธ์ที่น่ากลัวในบางครั้ง เช่น เมื่อระบบพยายามเลี่ยงนักปั่นจักรยานบนถนนแต่ชับเข้าไปเลนรถบรรทุกขนส่งของ UPS ทำให้รถเสียหลัก และเกือบชนเข้ากับรถบรรทุก ทั้งยังมีกรณีขับผิดเลนจนเกือบชนเข้ากับรั้วบ้าน เป็นต้น