ผ่าสมรภูมิรบ Metaverse

metaverse
คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

“Metaverse” น่าจะยังมาแรงต่อเนื่องในปี 2022 นี้ เพราะบรรดาบิ๊กเทคพากันตบเท้าเข้าสู่สมรภูมิรบในโลกเสมือนจริงนี้กันอย่างพร้อมเพรียง

ต้องขอบคุณ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” เจ้าพ่อ Facebook ที่จุดกระแสให้ “Metaverse” กลายเป็นคำฮิตประจำวงการไฮเทคทันทีที่ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ใหม่ในการปฏิวัติโลกออนไลน์เพื่อก้าวสู่โลกเสมือนจริงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

การขยับของเจ้าพ่อโซเชียลมีเดียทำให้ “Metaverse” กลายเป็นจุดสนใจของคนทั้งวงการ และแน่นอนว่าบิ๊กเทคอย่าง Apple Microsoft และ Google ไม่อยู่เฉย โดยต่างกำลังซุ่มพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่แห่งการท่องโลกเสมือนจริงอย่างขมีขมัน หากโครงการ “Metaverse” ของเหล่าบิ๊กเทคเป็นไปตามแผน ลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟนวันนี้ก็น่าจะมีแว่น VR ใช้ควบคู่กันไปด้วยในอีกไม่กี่ปี

“โกลด์แมน แซกส์” คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ “Metaverse” กว่า 1.35 ล้านล้านเหรียญในอนาคตอันใกล้ เพราะแค่ปี 2021 ก็มีนักลงทุน VC ทุ่มเงินในสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกเสมือนไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ ไม่นับเงินที่บิ๊กเทคสำรองไว้เพื่อพัฒนาโครงการ “Metaverse” ของตนเองอีก เช่น Meta ที่บอกว่าจะอัดเงินเพื่อฟอร์มทีม “Metaverse” ปีนี้กว่าหมื่นล้านเหรียญ

ปัจจุบัน Meta กุมส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์ VR ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าสู่โลกเสมือนถึง 75% โดย VR App ที่มีชื่อว่า Oculus ขึ้นแท่นแอปอันดับหนึ่งบน App Store ในวันคริสต์มาสที่ผ่านมา ตอกย้ำว่าเทรนด์ Metaverse กำลังมาแรงจนแว่น VR ของ Meta รุ่น Quest 2 (ใช้งานผ่านแอป Oculus) กลายเป็นของขวัญคริสต์มาสสุดฮิตไปแล้ว

นอกจากนี้ Meta ยังพัฒนาแว่น VR รุ่นใหม่ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์แบบ “mixed reality” ที่มาพร้อมกล้องที่จะช่วยหลอมรวมโลกจริงกับโลกเสมือน และยังเพิ่มฟังก์ชั่น face & eye tracking เพื่อให้ผู้ใช้สามารถบังคับใช้ได้สะดวกขึ้นอีก

การเข้าสู่ตลาดเร็วกว่าคู่แข่ง ทำให้ Meta มีความได้เปรียบ เพราะนำบทเรียนการใช้งานของลูกค้ามาพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่ได้ตรงจุด บริษัทยังกว้านซื้อบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาไว้อีกเพียบ

แต่บิ๊กเทครายอื่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เช่น Apple แม้จะเป็นเสือปากหนักไม่ยอมปริปากพูดถึงสินค้าตัวใหม่สักที แต่ก็รู้กันทั้งวงการว่าซุ่มพัฒนาโมเดลต้นแบบ VR headset มาหลายปีแล้ว

แถมสินค้าตัวใหม่ ๆ ของบริษัทมาพร้อมระบบเซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ที่ระบุตำแหน่ง และแผนที่ (mapping & localization) ได้ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ Lidar และ ARkit บน iPhones และ iPads ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าบริษัทกำลังปูทางไปสู่การเปิดตัว headset ที่ผสานเทคโนโลยี VR และ AR (augmented reality) เข้าด้วยกัน

โดยนักวิเคราะห์คาดว่า Apple จะเปิดตัว headset ในปีนี้ที่จะมาเขย่าวงการได้ไม่แพ้กับตอนเปิดตัว iPhone และ Apple Watch ที่พลิกโฉมสมาร์ทโฟนและสมาร์ทวอตช์มาแล้ว

ตอนนี้คนในวงการเลยเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวของซีอีโอ “ทิม คุก” เป็นพิเศษว่าจะพูดถึงสินค้าตัวใหม่นี้เมื่อไหร่ และจะชูฟังก์ชั่นใดเป็นจุดขาย ในขณะที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคิดไปไกลถึงขั้นว่า Apple จะสร้าง App Store ใหม่เพื่อขาย virtual reality app โดยเฉพาะหรือไม่

รวมถึงจะมีการออก exclusive content เฉพาะสำหรับวงการเพลงและกีฬาหรือเปล่า และถ้าแตกไลน์สินค้าใหม่จริงจะทำให้หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นอีกหรือไม่ เพราะถือเป็นการออกไลน์สินค้าใหม่ในรอบ 7 ปีของบริษัท

Google ก็เช่นกัน หลังเป็นบิ๊กเทครายแรกที่วางขาย headset อย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัว Google Glass ตั้งแต่ปี 2013 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดแมส ทำให้มีใช้จำกัดเฉพาะในกลุ่มลูกค้าองค์กร ล่าสุดมีข่าวว่ากำลังฟอร์มทีม AR พัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ที่จะรองรับการใช้ AR โดยเฉพาะอีกครั้ง

เพราะกลัวว่า หากวันใด “Metaverse” มาแรงมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิดระบบปฏิบัติการใหม่บนมือถือทดแทน Android ที่เป็น operating system ที่แมสที่สุดในโลกที่ Google เป็นเจ้าของอยู่ตอนนี้

ขณะที่ Microsoft มีจุดยืนต่างจากเจ้าอื่นตรงที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าองค์กร เพราะ HoloLens หรือ AR headset ของบริษัทราคาสูงถึง 3,500 เหรียญ ทำให้ยากที่จะเจาะตลาดแมส โดยในปีที่แล้วปิดดีลมูลค่ากว่า 22,000 ล้านเหรียญ เพื่อผลิต HoloLens กว่า 120,000 เครื่องให้กองทัพสหรัฐ และมีแผนขยายตลาดไปยังวงการแพทย์ด้วย

นอกจากนี้ ยังลงทุนมหาศาลพัฒนา cloud services รองรับการใช้งานโลกเสมือนในปีนี้ ทั้งการใช้ประโยชน์จาก Microsoft Mesh ที่เปิดตัวไปต้นปี 2021 ซึ่งเป็นระบบ video conference รูปแบบ 3 มิติ โดยมีแผนผสาน Mesh เข้ากับแอป Team ซึ่งใช้ video conference

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวต่อไม่กี่ชิ้นของจิ๊กซอว์ ยังไม่รวมผู้เล่นตัวจริงอย่างค่ายเกมยักษ์ Epic Game หรือ Roblox ที่มีเครือข่ายรองรับผู้ใช้งานในโลกเสมือนมาหลายปีแล้ว และนับวันก็ยิ่งพัฒนาจนทำให้โลกเสมือนกับโลกแห่งความจริงขยับเข้าใกล้กันขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อบิ๊กเทคเริ่มขยับมาชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนโตนี้ ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันบนโลก “Metaverse” ทวีความรุนแรงและน่าจับตาขึ้นไปอีกหลายเท่า