Creative Space ปั้นนักศึกษาสู่เส้นทาง “สตาร์ตอัพ”

ปัญหานิสิตนักศึกษาเรียนจบมาแล้วขาดทักษะในการทำงานจริง หรือขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่วงการไอทีต้องเจอมาหลายสิบปี และมีความผลักดันให้เกิดการปรับปรุงรูปแบบการศึกษาเพื่อแก้ปัญหานี้ ล่าสุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้แปลงโฉมพื้นที่ 1,500 ตร.ม. บริเวณชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ.รังสิต ให้เป็นพื้นที่ Co-Working Space “TCS : Thammasat Creative Space” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบรรดานักศึกษา

“ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มธ.กำลังเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนที่เน้นให้เกิดการคิดเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงมากขึ้น ไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน จึงได้จัดตั้ง “TCS – Thammasat Creative Space” ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพและช่วยผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“เราพยายามทำให้นักศึกษาเรียนในห้องน้อยลง ใช้ปัญหาที่มีในชีวิตจริงเป็นตัวตั้งเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ถ้าทำได้ นักศึกษาธรรมศาสตร์ 4 หมื่นคนจะมีไอเดียใหม่ ๆ เพราะความคิดของคนสำคัญที่สุด”

ภาพรวมสตาร์ตอัพตอนนี้คิดแต่เรื่องนวัตกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีแต่นวัตกรรมหรือบางมหาวิทยาลัยจะเก่งแต่ด้านการตลาด และปัจจุบันกลไกการช่วยเหลือสตาร์ตอัพในมหาวิทยาลัยยังน้อย

“แม้ว่าสตาร์ตอัพอาจจะต้องเริ่มจากสายเทคโนโลยี แต่ก็ต้องการความรู้ด้านการตลาด จึงต้องนำ 2 ส่วนมาเจอกันเพื่อความสำเร็จ สตาร์ตอัพ 80-90% ที่ล้มเหลว ไม่ใช่นวัตกรรมไม่ดี แต่ตลาดมีปัญหา เมื่อ มธ. มีคณะการเรียนการสอนครบทั้ง 2 ส่วน การมีพื้นที่นี้จะช่วยให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน”

ตั้งเป้าปั้นสตาร์ตอัพ 100 ทีม

Advertisment

ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดโครงการประกวดแข่งขันไอเดียธุรกิจสตาร์ตอัพระดับประเทศ (Startup Thailand League) โดยให้เงินสนับสนุนทั้งหมด 8 ล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่นักศึกษา คณาจารย์และนักวิจัยในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ รวมทั้งเป็นเงินรางวัลให้กับนักศึกษา

“ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว” ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มธ. กล่าวว่า ล่าสุดคัดเลือกผลงานทีมนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ 33 ทีม ซึ่งแต่ละทีมจะได้รับรางวัล 100,000 บาท เพื่อใช้พัฒนาชิ้นงานต้นแบบ สำหรับเข้าประกวดในเวทีระดับประเทศ Startup Thailand 2017 ต่อไป

Advertisment

“ในปีนี้ธรรมศาสตร์ได้บ่มเพาะสตาร์ตอัพจำนวน 70 ทีม มีผู้ชนะ 33 ทีมที่ได้เงินสนับสนุนไปทำตัวต้นแบบ เพื่อที่จะได้นำไปพิตช์ในรายการอื่น ๆ ต่อไป และในปีหน้าเราตั้งเป้าจะพัฒนาสตาร์ตอัพให้ได้ 100 ทีม”

สตาร์ตอัพแก้ปัญหาที่จอดรถ

ด้าน “รัชนนท์ ตันเจริญ” นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมการขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. จากทีม “Paigun Carpooling” แพลตฟอร์มหาเพื่อนร่วมทาง หนึ่งในทีมที่ผ่านมาการคัดเลือก กล่าวว่า ในมหาวิทยาลัย, ห้างสรรพสินค้า มีปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการรับผู้โดยสารร่วมทางเพื่อไปยังปลายทางเดียวกัน เมื่อมีผู้โดยสารครบ 4 คน ผู้ขับขี่จะสามารถจองที่จอดรถล่วงหน้าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

โดยเบื้องต้นได้เริ่มทดลองในคณะของตนเอง ก่อนที่จะขยายให้บริการทั่วมหาวิทยาลัย ส่วนบิสซิเนสโมเดลมองว่าจะมาจากการขายโฆษณาหรืออาจจะมาจากข้อมูลของผู้โดยสาร เพราะแพลตฟอร์มนี้ต้องเก็บข้อมูลเพื่อความปลอดภัย

“เราคิดมาเพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถไม่พอรวมทั้งจะช่วยแก้ปัญหารถติด ซึ่งรูปแบบของเราไม่คิดจะเก็บเงินกับผู้โดยสารหรือผู้ขับขี่ เพราะถ้าเก็บจะทำให้ฐานลูกค้าน้อย ตอนนี้เราต้องการสร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อที่จะขยายบริหารให้ใหญ่ขึ้น”

Foster จุด Drop กระเป๋า

“สามารถ ยิ้มไทร” คณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “Foster” แอปฯหาจุด Drop กระเป๋าแบบทันใจ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งบางคนแบ็กแพ็กมา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกปล้นและเป็นภาระ ดังนั้นแพลตฟอร์มจะช่วยให้นักท่องเที่ยวหาจุดฝากของในแหล่งท่องเที่ยว และช่วยสร้างรายได้ให้กับร้านค้าในพื้นที่ สำหรับบิสซิเนสโมเดลจะหักค่าคอมมิสชั่น 25% และนอกจากนี้ทีมยังเข้ารอย 100 ทีมในการประกวดกับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยอีกด้วย

เปิดเต็มรูปแบบกลางปี”61

สำหรับ TCS – Thammasat Creative Space ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีพื้นที่1,500 ตารางเมตร พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ 1) พื้นที่ทำงาน 2) เมคเกอร์สเปซ (maker space) สำหรับการสร้างต้นแบบผลงาน 3) โซนอเนกประสงค์ที่ถูกออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยง่ายเพื่อให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรม และพร้อมให้บริการกลางปี 2561