ทำความรู้จัก e-Commerce 3.0

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ช่วงนี้ผมกำลังสนใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากทำอะไรที่ล้ำหน้าคนอื่น ๆ ความได้เปรียบคือ first mover stategy ช่วงนี้เลยศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เอามาใช้ได้

ผมดูการสัมภาษณ์ “ซุนดาร์ พิชัย” (Sundar Pichai) CEO ของ Google พูดถึงเว็บ 3.0 ว่า หลัก ๆ คือ decentralized คือไม่มีตัวกลางอีกต่อไป

แต่เมื่อเข้าสู่โลกของการค้าที่ตอนนี้เป็นยุค 3.0 เหมือนกัน ผมจะขอย้อนกลับไปที่ยุคแรก ๆ ก่อน

1.ยุค e-Commerce 1.0 เว็บไซต์เป็นสถานที่หรือ place ไว้ขายของในนั้น เช่น ebay, amazon, TARAD.com เป็นยุคแรกของการทำอีคอมเมิร์ซ ฉะนั้นยุคนั้นใครอยากทำธุรกิจก็ต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อขายของหรือมาขายของบนแพลตฟอร์มเหล่านี้

2.ยุค e-Commerce 2.0 มี platform ไว้ช่วยให้เกิดการขายของ เช่น software ที่สร้างอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ มากมาย เช่น Shopify, WooCommerce, TARAD U-Commerce 2.0

เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีเริ่มดีขึ้น การทำอีคอมเมิร์ซไม่จำเป็นต้องเข้าไปขายในแพลตฟอร์มในยุค 1.0 อีกต่อไป เริ่มมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เรานำมาใช้ได้

หรือในโลกของอีคอมเมิร์ซจะมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็น open source คือดาวน์โหลด source code มาได้ฟรี คือซอฟต์แวร์ที่แจกฟรี สามารถไปดาวน์โหลดมาติดตั้ง และเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลก็มีเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูป นั่นคือยุคที่อีคอมเมิร์ซจากเดิมที่เป็น place เริ่มเข้าสู่การเป็น platform เราไปขายบนแพลตฟอร์มที่บริหารจัดการเองได้

3.e-Commerce 3.0 มี infrastructure ที่ช่วยประกอบสร้างให้เกิดการขายของ บริการในยุคนี้จะเป็นชิ้น ๆ เป็น module ที่นำมาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น Commerce-UI, Bolt, PaySolutions, Shippop

ยุคนี้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนไป สังเกตว่าบริษัทรุ่นใหม่ ๆ เขาไม่ทำทุกอย่าง ทุกคนจะเก่งเฉพาะด้าน เช่น ผมทำบริษัทเกี่ยวกับเรื่องเพย์เมนต์ก็จะเก่งเรื่องเพย์เมนต์ บางคนทำข้อมูลสินค้า ก็จะทำเรื่องระบบ search บางคนทำเกี่ยวกับเรื่อง recommendation คืออะไร

ตัวอย่างของ recommendation คือ หัวใจของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจริง ๆ คือตัว search เราจะ search ข้อมูลอย่างไรให้แม่นยำที่สุด ตัว recommendation จะมีการเก็บข้อมูลไว้ให้มากที่สุด มันจะไปเอาประวัติในการค้นหาสินค้าก่อนหน้าของคุณมา จะไปเอาคุกกี้ที่คุณไปดูสินค้าในเว็บนั้น ๆ มา ข้อมูลพฤติกรรมเหล่านี้จะเริ่มนำมาวิเคราะห์ การนำเสนอข้อมูลสินค้าจะเปลี่ยนไปแล้ว

ฉะนั้น หน้าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในยุคหลัง ๆ จะสังเกตว่าแต่ละคนจะเจอสินค้าไม่เหมือน ๆ กัน ยุคหลัง ๆ นี้เราจะเจอแต่สินค้าที่เราชอบหรือที่เราเคยดูมาก่อน จะเห็นว่าในเชิงเทคโนโลยีเริ่มมีบรรดาผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่เฉพาะ ที่เรียกว่าการทำ recommendation หรือการแนะนำ ซึ่งต้องมีข้อมูลประวัติของเรา พฤติกรรมของเรา และจะเอา AI ไปวิเคราะห์

สังเกตได้ว่าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซข้างหน้าจะดูเรียบง่าย แต่ข้างหลังเต็มไปด้วยระบบ AI และเทคโนโลยีที่พร้อมเรียนรู้พฤติกรรมทันที หรือมีการวิเคราะห์จากพฤติกรรมของคนที่คล้าย ๆ กับเรา และนำสินค้ามาโชว์ให้เราเห็น

ฉะนั้น ในหน้าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในยุคที่ 3 จะเริ่มเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะมีคำว่า dynamic มาก เริ่มมีคำว่า AI เข้ามาเกี่ยวข้อง และจะเริ่มแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะเริ่มมีผู้ให้บริการหลาย ๆ เจ้า ทำแต่ละเรื่องแต่จะทำให้เก่งเลย

ในอีคอมเมิร์ซยุคที่ 1 จะเป็นสถานที่เป็น place ยุคที่ 2 เป็น platform ในยุคที่ 3 เริ่มกลายเป็น infrastructure คือแต่ละคนจะพัฒนาเป็นชิ้น ๆ คุณอยากได้อะไรก็นำไปประกอบร่างได้

ยุคนี้เป็นยุคที่มีคนทำอีคอมเมิร์ซหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

และช่องทางในการขายของออนไลน์เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เว็บไซต์แล้ว กลายเป็นเดี๋ยวนี้เริ่มซื้อผ่านมือถือ ทีวีเดี๋ยวนี้กดเลือกสินค้าได้ ซื้อผ่านนาฬิกาก็ได้ เดี๋ยวนี้ตู้เย็นบางตัว (อย่างซัมซุงของเกาหลี) มีความฉลาดเพราะมีระบบเช็กของและสั่งซื้ออาหารหรือของมาเติมในตู้เย็นเองได้แล้ว

อีคอมเมิร์ซยุคใหม่จะเป็นชิ้นของเทคโนโลยีแต่ละชิ้นที่เอาเข้ามาประกอบเข้าด้วยกันเกือบทั้งหมด อีคอมเมิร์ซยุค 3.0 จะไม่ใช่การค้าขายในช่องทางที่เป็นมือถือหรือบนคอมพิวเตอร์ที่เราเห็นหรือเป็นภาพอีกต่อไปแล้ว

การค้าขายทุกอย่างจะแยกเป็นชิ้น ๆ ฟังก์ชั่น และความสามารถจะแยกเป็นชิ้น ๆ เราดึงความสามารถแต่ละตัวมาประกอบร่างเอาไปเชื่อมโยง เอาไปต่อกับบริการแต่ละตัวได้เพื่อให้ประสบการณ์ในการซื้อของแต่ละคน

ต่อไปจะมีความหลากหลายมากขึ้นเยอะเลยทีเดียวครับ