สเฟียร์เอท ตัวกลางอัพสปีดธุรกิจไทย

บุญศิริ หัสสรังสี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด (ขวา) ทิษฏยา ศิริมงคลเกษม ประธานฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด (ซ้าย)
บุญศิริ หัสสรังสี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด (ขวา) ทิษฏยา ศิริมงคลเกษม ประธานฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด (ซ้าย)
สัมภาษณ์

การแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ง่าย หลายบริษัททั้งเล็กและใหญ่จึงต้องการที่ปรึกษาด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กร หนึ่งในนั้น คือ บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจด้านที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ในฐานะที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจสู่ดิจิทัล และจับคู่ธุรกิจด้วยเทคโนโลยี

“บุญศิริ หัสสรังสี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด กล่าวว่า องค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอีไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ทั้งรัฐเอกชนในไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจมากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยจะทำได้ต้องเริ่มจากการวางกลยุทธ์ และมองหาเทคโนโลยี หรือโซลูชั่นที่เหมาะสม ทั้งการมี “ผู้เชี่ยวชาญ” เข้ามาช่วยทำให้การเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ไม่ช้าก็เร็ว ทุกองค์กรก็ต้องทรานส์ฟอร์ม และปรับตัวเอง การมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยถือเป็นทางลัด และจากประสบการณ์ที่มี เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ประกอบกับคุณบารัก ซาราบี ผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นชาวอิสราเอลที่มีประสบการณ์ในแวดวงสตาร์ตอัพมากว่า 30 ปี จึงมีเครือข่ายกว้างขวางในหลายประเทศ ทั้งอิสราเอล, ไต้หวัน, อเมริกา ทั้งจะแมตชิ่งเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับธุรกิจต่าง ๆ ได้”

สำหรับทิศทางการทำงานของบริษัทในปีนี้จะผลักดัน ผ่าน 5 กลยุทธ์ ได้แก่

1.การจับคู่ทางธุรกิจ (business matching)

2.การนำ “เทคโนโลยี” มาใช้

3.การมีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ให้การสนับสนุน

4.การวางกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จจนเกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจใหม่ ๆ

และ 5.ทักษะ และประสบการณ์ในการประสานงาน และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริษัท ลดข้อจำกัดทาภาษา และวัฒนธรรม

โดยจะรุกตลาดมากขึ้น ทั้งในแง่การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบริษัทผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อขยายฐาน
ลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยเหลือสตาร์ตอัพไทย คาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 3 ตั้งแต่การให้คำปรึกษาทางธุรกิจไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 30 ราย ในหลายอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่องค์กรใหญ่ ๆ ไปจนถึงเอสเอ็มอี

ด้าน “ทิษฏยา ศิริมงคลเกษม” ประธานฝ่ายปฎิบัติการ บริษัทเดียวกันเสริมว่า ธุรกิจในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ฟินเทค 2.ฟู้ดเทค 3.การแพทย์/สุขภาพ 4.พลังงานและสิ่งแวดล้อม 5.อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และ 6.ไอที&ซีเคียริตี้ ที่มีการปรับระบบไอทีให้มีความปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ และข้อกำหนดทางกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล