เปิดร่าง กม.แพลตฟอร์มดิจิทัล ปรับเกณฑ์เพิ่มความชัดเจนดูแลผู้บริโภค

แพลตฟอร์มดิจิทัล

ประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.ฎ.ควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลรอบใหม่ เพิ่มความชัดเจน-ปรับปรุงนิยามครอบคลุมผู้ทั้งในและนอกประเทศชี้บุคคลทั่วไปรายได้เกิน 1.8 ล้าน นิติบุคคล เกิน 50 ล้าน ฐานลูกค้า 5พันราย/เดือน ต้องแจ้ง สพธอ.แจงประเภทธุรกิจ-รูปแบบบริการ-จำนวนผู้ใช้-มูลค่าธุรกรรม ก่อนเปิดบริการ เตรียมสรุปข้อเสนอแนะชงกฤษฎีกา พิจารณาวาระ 2

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ EDTA กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น และมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้นเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จึงต้องกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดขอบเขตการประกอบธุรกิจที่ต้องแจ้งให้ทราบ และมีหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจสำหรับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะ

ซึ่ง (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วาระที่ 1 และเห็นควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ในวันที่ 10-25 มี.ค. 2565 จากนั้น สพธอ.จะรวบรวมความคิดเห็นเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

ชัยชนะ มิตรพันธ์
ชัยชนะ มิตรพันธ์

ขั้นตอนหลังนำความเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วาระที่ 2 และเวียนร่าง พ.ร.ฎ.ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันร่างเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อเสร็จกระบวนการนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ 240 วันหลังประกาศลงในราชกิจจาฯ

Advertisment

สำหรับโครงสร้างร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ประกอบด้วย 1.บททั่วไป 2.หมวดที่ 1 การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 3.หมวดที่ 2 หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการควบคุมดูแล

4.หมวดที่ 3 การถอนการรับแจ้งการประกอบธุรกิจ 5.หมวดที่ 4 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้เพิ่มเติมขึ้น เพื่อสร้างความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนให้ภาคเอกชน 6.หมวดที่ 5 การอุทธรณ์ และ 7.บทเฉพาะกาล

นางสาวศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย สพธอ.กล่าวว่า รายละเอียดแต่ละส่วนที่มีการเพิ่มเติมก็เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น บททั่วไป มาตรา 5 เพิ่มความชัดเจนและปรับปรุงนิยามให้ครอบคลุม

โดยในมาตรา 5 การให้ความหมายของ “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ว่าเป็นการให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม

Advertisment

และกลุ่มบริการตัวอย่างที่เข้าข่าย เช่นอีมาร์เก็ตเพลซ ผู้ให้บริการขนส่งอาหารผ่านดีลิเวอรี่แพลตฟอร์ม เป็นต้น

ส่วนในหมวดที่ 1 การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มาตรา 8 เพิ่มรายละเอียดให้ชัดขึ้น โดยระบุว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะต้องแจ้ง สพธอ.ก่อนประกอบธุรกิจ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี นิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) และมีผู้ใช้ประจำในไทยเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน และในมาตรา 9 ควบคุมผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่นอกประเทศไทย แต่ให้บริการผู้ใช้ในไทย มาตรา 10 กำหนดให้แต่งตั้งผู้ประสานงานในประเทศ

มาตรา 11 การแจ้งข้อมูลแบ่งเป็น 1.ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ (ชื่อ-นามสกุล หรือชื่อนิติบุคคล เลขบัตรประชาชน/เลขทะเบียนนิติบุคคล ที่อยู่ รอบบัญชี ช่องทางการติดต่อ) 2.ข้อมูลเกี่ยวกับบริการ (ชื่อบริการ ประเภท ช่องทางการให้บริการ มูลค่าการทำธุรกรรม รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย สัดส่วนรายได้)

3.ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (จำนวนผู้ใช้ ประเภทผู้ใช้ จำนวนผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง) 4.ข้อมูลเกี่ยวกับข้อร้องเรียน (จำนวนและประเภทการร้องเรียน การจัดการเรื่องร้องเรียน การระงับข้อพิพาท) เป็นต้น

ถัดมาในหมวดที่ 2 หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจ และการควบคุมดูแล มาตรา 15 ลักษณะบริการที่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้รับทราบเกี่ยวกับข้อตกลงและเงื่อนไขบริการ และมาตรา 16 เกี่ยวกับประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรม เช่น เงื่อนไขบริการ การระงับ หรือหยุดให้บริการ ค่าบริการ ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้จัดอันดับหรือแนะนำรายการสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้ การเข้าถึง และการใช้งานข้อมูล เป็นต้น