James Dyson Award ปั้นเด็กไทยเป็น “นวัตกร”

“James Dyson Award” เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย เปิดรับสมัครไอเดียสิ่งประดิษฐ์ชิงเงินรางวัล 2.2 แสนบาท ย้ำแนวคิด “ออกแบบอะไรก็ได้ที่แก้ปัญหา” ระบุกว่า 70% ของผู้ชนะระดับนานาชาติเดินหน้าต่อยอด “ไอเดีย” สู่ธุรกิจ

วันที่ 15 มีนาคม 2565 James Dyson Foundation ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกับจัดประกวดการแข่งขันออกแบบนวัตกรรมระดับนานาชาติ James Dyson Award ในประเทศไทย โดยเปิดรับผลงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบจากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 ก.ค. 2565 ผ่านเว็บไซต์ jamesdysonaward.org ซึ่งผู้ชนะระดับชาติจะได้รับรางวัล 222,000 บาท และมีสิทธิในการชิงรางวัลระดับนานาชาติที่มีรางวัลถึง 1,330,000 บาท

สำหรับการประกวดแข่งขันออกแบบนวัตกรรม James Dyson Award ได้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2005 เพื่อค้นหาไอเดียสดใหม่ของนักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่จากคณะวิศวกรรม และคณะด้านการออกแบบ ด้วยโจทย์เดิมมาตลอด 17 ปี

คือ “ออกแบบอะไรก็ได้ที่แก้ไขปัญหา” ทำให้ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหาในระดับโลกมากมาย โดยผู้ชนะในปีที่ผ่าน ๆ มาได้นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ที่แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่แก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรีไซเคิลพลาสติก แก้ปัญหาเลือดออกจากแผลมีดบาด และพัฒนาการตรวจโรคต่าง ๆ ได้เองที่บ้าน

นายเจมส์ ไดสัน ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าทีมวิศวกร Dyson กล่าวว่า “ความสำคัญของรางวัล James Dyson Award คือการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด และส่งเสริมให้นักประดิษฐ์และออกแบบรุ่นใหม่ตั้งคำถามและท้าทายกับสิ่งต่าง ๆ

“ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ และเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน เพราะโลกในอนาคตคือโลกของพวกเขา รางวัลนี้จะให้ความมั่นใจและพื้นที่สำหรับการแก้ปัญหา ผมตื่นเต้นมากที่ปีนี้เราเปิดตัว James Dyson Award ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ผมตั้งตารอดูผลงานที่จะเปลี่ยนโลกจากนักประดิษฐ์เยาวชนไทย”

และรางวัลในระดับนานาชาติจะคัดเลือกโดยเจมส์ ไดสัน ซึ่งผู้ชนะการประกวดจะได้รางวัลเป็นเงินทุน และโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผลงานในระดับโลก ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำไอเดียไปต่อยอดทางธุรกิจ
ผู้ชนะระดับชาติจะได้เงินรางวัล 222,000 บาท และผู้ชนะรางวัลระดับนานาชาติจะได้เงิน 1,330,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการสานต่อ และต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต และในปีนี้ James Dyson Award ยังเปิดตัวเครือข่ายผู้ชนะการประกวด โดยจะจัดกิจกรรม และโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำสิ่งประดิษฐ์ไปต่อยอดทางธุรกิจ หรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ

ลิเดีย บีตัน

นางสาวลิเดีย บีตัน ประธานมูลนิธิ James Dyson Foundation กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมาในปี 2011 เริ่มที่ประเทศอังกฤษ และขยายไปในประเทศต่าง ๆ ทั้งในอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และล่าสุดที่ประเทศไทยในปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย บนเป้าหมายที่ต้องการสร้างนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตมาเป็นนวัตกรในอนาคต

“70% ของผู้ชนะในระดับสากลจะตัดสินใจต่อยอดธุรกิจ ที่ผ่านมาเรามีผู้ชนะ 18 รุ่น จากการแข่งขันที่นับมาได้ 285 นวัตกรรมที่ได้รางวัล มูลค่ารวม 45 ล้านบาท หรือ 1 ล้านปอนด์”

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนสิ่งประดิษฐ์จากผู้เข้าแข่งขันทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติ และในปี 2564 ที่ผ่านมา James Dyson ได้เลือกผู้ชนะรางวัลระดับนานาชาติถึง 3 รางวัลเป็นครั้งแรก โดยแต่ละรางวัลจะได้เงินรางวัลจำนวน 1,330,000 บาท เช่นกัน และในปีนี้จะมีการเลือกผู้ชนะรางวัลระดับนานาชาติเช่นเดิม แต่ก่อนจะถึงการแข่งขันในระดับนานาชาติ แต่ละประเทศจะคัดเลือกผู้ชนะในระดับชาติ และรางวัลรองชนะเลิศอีก 2 รางวัล โดยคณะกรรมการที่คัดเลือกผู้ชนะจะมาจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศ และวิศวกรจาก Dyson

สำหรับในปี 2565 นี้ James Dyson Award เปิดตัวเป็นครั้งแรกใน 2 ประเทศ คือ ตุรกี และประเทศไทย ผู้ที่ชนะรางวัลระดับชาติจะได้รับเลือกให้ลงแข่งในระดับนานาชาติโดยอัตโนมัติ

“สิ่งที่วิศวกรจาก Dyson มองหาในสิ่งประดิษฐ์จากการแข่งขัน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแค่ผลกระทบของปัญหาเป็นหลัก แต่รวมถึงคุณค่าของสิ่งประดิษฐ์นั้น และการทำงานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ”

ตัวอย่างโอกาสที่ได้จาก James Dyson Award เช่น mOm incubators ผู้ชนะระดับนานาชาติ ปี 2014 จากผลงานที่เพิ่มตัวเลือกในการดูแลเด็กแรกเกิด หลังทดสอบการใช้งานเสร็จสิ้น ได้มีการนำไปใช้งานในองค์กร UK NHS trust 3 แห่ง และช่วยชีวิตทารกกว่า 20 ชีวิต และมีแผนพัฒนา mOm ไปสู่การใช้งานในระดับโลกเพื่อช่วยอัตราการเข้าถึงการดูแลทารกทั่วโลก ขณะที่ผู้ชนะรางวังรองชนะเลิศในปี 2017 จากสหรัฐอเมริกา

“SoaPen”สบู่ในรูปแบบปากกาสีสันสดใสที่กระตุ้นการล้างมือ ได้พัฒนาผลงานสู่การดำเนินธุรกิจจนติดอันดับ Forbes 30 Under 30 Lists และได้จำหน่ายสินค้าทั่วทวีปอเมริกา ล่าสุดยังผลิตเจลล้างมือเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดในช่วงการระบาดของโรค COVID-19

ส่วน Rabbit Ray รองชนะเลิศระดับชาติจากสิงคโปร์ ในการออกแบบเครื่องมือสื่อสารสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยอธิบายขั้นตอนทางการแพทย์แก่เด็ก เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ “Esther Wang” ได้ก่อตั้งบริษัทด้านสุขภาพและการศึกษาที่ชนะรางวัลอย่างบริษัท Joytingle และสิ่งประดิษฐ์ของเธอสามารถช่วยอธิบายได้ตั้งแต่การฉีดวัคซีนจนไปถึงการรักษาด้วยคีโม