AIS เดิมพันเจ้าตลาด ผนึกพันธมิตรย้ำ “โตไปด้วยกัน”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ก้าวสู่ปีที่ 32 ด้วยการเปิดเกมใหญ่อย่างต่อเนื่องสำหรับยักษ์มือถือ “เอไอเอส” ที่วันนี้ไม่ได้วางโพซิชั่นตนเองเป็นผู้ให้บริการมือถือ แต่กำลังจะขยับจาก “ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรไวเดอร์” ไปสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ หรือ Cognitive Telco โดยยังคงมีฐานลูกค้ามากสุดอันดับ 1 กว่า 45 ล้านเลขหมาย

เว้นแต่ “ทรู-ดีแทค” รวมกันสำเร็จเมื่อไร หากนำฐานลูกค้าของทั้งคู่มารวมกันก็จะพลิกขึ้นมามากกว่า ซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อว่าดีลนี้จะได้ข้อสรุปเช่นไร โดยเฉพาะการกำกับดูแลการแข่งขัน โดย “กสทช.” ชุดใหม่ เพราะเมื่อบริบทธุรกิจเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อยย่อมส่งผลถึง “ผู้บริโภค”

จุดยืน “เอไอเอส” กรณีควบรวม

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า บริษัทได้แสดงจุดยืนทั้งในบริบทของการเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักธรรมาภิบาล (corporate governance) และการเป็นผู้ประกอบการที่รับใบอนุญาต ด้วยการส่งจดหมายไปยัง กสทช. ทั้งในแง่ของข้อฎหมายต่าง ๆ

และในเชิงการแข่งขันตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดจากการมีผู้ประกอบการน้อยลง เพราะเมื่อคู่แข่งน้อยราย เมื่อแข่งกันไปถึงจุดหนึ่งก็จะแข่งกันน้อยลง ซึ่ง กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแล (regulator) จะต้องพิจารณาองคาพยพต่าง ๆ ทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติ, ประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการ ประกอบกัน

“บอร์ดบริหารของบริษัท ซึ่งมีบอร์ดอิสระอยู่เยอะมาก ต้องการให้บริษัทแสดงจุดยืนที่ถูกต้อง ไม่งั้นวันหนึ่ง ผู้บริโภคอาจมาต่อว่าเราได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ตลาดบิดเบือน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ กสทช.ที่จะเข้ามาทำหน้าที่

ถามว่าดีลนี้เป็นอย่างไร ตามทฤษทั่วไปดูจากตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้ พอประกาศควบรวม หุ้นขึ้นกันหมดโดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จะเป็นแบบนี้ แต่ก็จะเห็นว่ามีคนร้องเรียนทั้งเอ็นจีโอ และนักวิชาการ ซึ่งเรกูเลเตอร์จะต้องบาลานซ์ 3 ส่วนตามที่ได้พูดไปแล้ว”

นำร่อง “เมตาเวิร์ส” ย้ำผู้นำ

ในฐานะผู้นำตลาด “สมชัย” บอกว่า ตลอด 31 ปีที่ผ่านมาได้สร้างโครงข่ายการสื่อสารเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงกว่า 2 ปีท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ “ดิจิทัล” ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในทุกด้านได้ประกาศตัวก้าวสู่การเป็น Cognitive Telco หรือองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ

ภายใต้ยุทธศาสตร์ธุรกิจจะมุ่งเน้น 1.mobile 5G เป็นธุรกิจหลัก 2.AIS Fibre (อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์) และกลุ่มลูกค้าองค์กร (enterprise business) และ 3.การลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ (new digital service) ที่จะเริ่มเห็นความคืบหน้าในครึ่งปีหลัง เช่น ร่วมทุนกับเอสซีบี ตั้งบริษัท AISCB ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล เป็นต้น

ล่าสุดย้ำบทบาทการเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้วยการเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่เข้าสู่โลก Metaverse โดยร่วมกับพาร์ตเนอร์สร้างประสบการช็อปปิ้งบนโลกเสมือนผ่าน V-Avenue.Co บน Avatar Park ที่เปิดให้ลูกค้าเข้ามาสร้างตัวตน และสัมผัสกับการใช้บริการในโลกเสมือนจริง และเร็ว ๆ นี้จะมีกิจกรรม Metaverse Community เพิ่มขึ้น เช่น จัดคอนเสิร์ต TEAM AIS5G Faniverse Concert เป็นต้น

“เราเชื่อว่าการส่งมอบประสบการณ์ และการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่อยู่ใน ecosystem มองเห็นโอกาสที่จะใช้ Metaverse จะส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศให้เดินได้เท่าทันกับประเทศอื่น ๆ เหมือนการลงทุน 5G ที่ผมเองเคยบอกก่อนหน้านี้ว่า 5G บ้านเรา เร็วกว่าอีกหลายประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่ในแง่ความคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

แต่ถือเป็นการสะสมประสบการณ์ เมื่อไรที่ตลาดพร้อม เราก็จะไปได้เร็ว เมตาเวิร์สก็เช่นเดียวกัน เราไม่ได้มองว่าต้องได้ลูกค้ากลับมาเท่าไร แต่อยากให้คนไทย และธุรกิจไทยมองเห็นโอกาส รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้การดำเนินธุรกิจได้ด้วย”

ผนึกพันธมิตร “โตไปด้วยกัน”

และในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 32 บริษัทจึงมีกิจกรรมตอบแทนลูกค้า พร้อมกับตอกย้ำจุดยืนที่พร้อมอยู่เคียงข้างสังคมไทยในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการสร้างเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรธุรกิจ โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทย ให้ลูกค้ากว่า 45 ล้านรายของเอไอเอส

ทั้งที่ใช้บริการมือถือ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ นำ AISPoints (คะแนนสะสมจากการใช้บริการ) ไปแลกเป็นส่วนลดเงินสดเพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าในโครงการถุงเงินที่มีมากกว่า 4 แสนร้านค้าทั่วประเทศได้ด้วย พร้อมกับร่วมมือกับ “เซ็นทรัลรีเทล” ใช้ AISPoints แลกรับคูปองสำหรับซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัลตลอดทั้งปี

“โครงการของรัฐบาลที่ยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนฐานรากขึ้นมาได้ อย่างคนละครึ่ง เมื่อหมดโครงการก็น่าเสียดาย เราจึงนำระบบเอไอเอสพอยต์ ที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง 2 หมื่นกว่าร้านค้า ขยายไป 4-5 แสนร้านค้า เป็นการขยายแบบใหม่ ไปกับโครงการถุงเงินของกรุงไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ในโครงข่ายของเรา และลูกค้าของเรา เป็นการวางอินฟราสตรักเจอร์ให้สังคมส่วนรวมด้วย”

“ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เสริมว่า คะแนนสะสมใน AISPoints ของลูกค้าเอไอเอส หากคิดเป็นมูลค่าจะมีหลายพันล้านบาท ซึ่งนำมาแลกเป็นส่วนลดเงินสดหรือคูปองสำหรับซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกับบริษัท (2 points เท่ากับ 1 บาท)

นอกจากทำให้ลูกค้าเอไอเอสมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ยังทำให้ร้านค้าอีกกว่า 4 แสนราย ซึ่งเข้าร่วมในโครงการ “ถุงเงิน” ที่รับโครงการ “คนละครึ่ง” อยู่แล้วโอกาสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย

“ก่อนนี้ เราเคยร่วมกับซิติ้แบงก์ โดยใช้ผ่าน myAIS App ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเอไอเอสก็ใช้ได้ ถ้าเป็นลูกค้าเราเองก็มีตั้งแต่รายได้สูงมาก ๆ ไปจนถึงรากหญ้า ก็จะได้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ ส่วนลูกค้าใหม่ก็ตั้งใจจะเชิญชวน และก็ยินดี

ถ้าจะเข้ามาใช้ ที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในเมืองเป็นหลัก แต่ต่อไปจะกระจายไปทั่ว ถือเป็นความร่วมมือ และความตั้งใจที่จะสร้างความต่อเนื่องในการสนับสนุนร้านค้ารายย่อย ลูกค้า 45-46 ล้านรายเทียบกับประชากรก็เกือบค่อนประเทศ ในแง่ร้านค้าก็เหมือนมีคนจ่ายแทนให้”

ก้าวข้ามโควิดเผื่ออนาคต

“สมชัย” ยังพูดถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิดด้วยว่ากระทบทุกคน แต่เอไอเอสโชคดีที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่คนจำเป็นต้องใช้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดี เพราะเมื่อมีการใช้งานเพิ่ม ก็ต้องลงทุนเพิ่ม เช่น ลงทุน 100 บาท ในแง่รายได้ควรกลับมา 120 บาท แต่จากสภาพเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ ทำได้กลับมา 80 บาท เนื่องจากไม่สามารถคิดราคาแพงได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูง และกำลังซื้อที่ไม่ดี ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่บริษัททำได้ คือหันกลับมาควบคุมการใช้จ่ายให้ดี ประหยัดต้นทุน และหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่โตอย่างที่คาดหวัง

“การทำเมตาเวิร์ส หรือลงทุนร่วมกับเอสซีบี ตั้งบริษัทใหม่ เอไอเอสซีบี ก็เป็นการสร้างแหล่งรายได้ใหม่จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ถ้าทำสำเร็จก็จะมีรายได้กลับมา สรุปง่าย ๆ คือเรายังโชคดี ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นแต่ต้องลดต้นทุน และแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ วันนี้เรายังเติบโตซิงเกิลดิจิต แต่เวลาลงทุน ลงทุนดับเบิลดิจิต”

แม่ทัพ “เอไอเอส” ยังพูดถึงการเข้ามาของ “กัลฟ์” ผู้ถือใหม่ด้วยว่าถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้บริษัทแข็งแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมามี “สิงเทล” เป็นพาร์ตเนอร์ ก็ได้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในฐานะบริษัทระดับโลก ขณะที่ “กัลฟ์” เป็น “โลคอล สตาทิจิก พาร์ทเนอร์” ที่มีความแข็งแรงในธุรกิจอื่นที่จะมาเสริมได้ เช่น การลงทุนในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ที่ต้องการเรื่อง “พลังงาน” ก็จะมาเสริมได้ เป็นต้น

“เขาส่งคนมานั่งในบอร์ด ให้ไกด์ไลน์อะไรต่าง ๆ ปกติ แต่ส่วนที่เหลือจะดี ไม่ดีอยู่ที่ตัวเรา”

ส่วนแผนการหาผู้สืบทอดตำแหน่ง (succession plan) “สมชัย” บอกว่า ยังอยู่ไทม์ไลน์ (นายสมชัยถึงวาระเกษียณปีนี้) ซึ่งจะมี “แคนดิเดต” 3 คน (2 คนใน-1 คนนอก)

จึงนับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับ “เอไอเอส” ทั้งในบริบทธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปจากการควบรวมกิจการของคู่แข่ง, การเข้ามาผู้ถือหุ้นใหม่ และวาระแห่งการเปลี่ยนผ่าน “แม่ทัพ”