อีเพย์เมนต์แข่งขยายฐานคนใช้ “ทรูมันนี่”เร่งเสริมแกร่งระบบ-อัดฉีดคู่ค้า

“ทรูมันนี่” โหมอีเพย์เมนต์รับแข่งดุ ลุยลงทุนเพิ่มกว่า 1,200 ล้านบาทเสริมแกร่งระบบ และเพิ่มเงินอัดฉีดสิทธิพิเศษให้ “ลูกค้า-คู่ค้า”อีกกว่าพันล้านบาท ปูพรมเพิ่มเอเย่นต์ในอาเซียนรองรับการเติบโตทะลุเดือด 300% ตั้งเป้าปั๊มฐานลูกค้าปี”61 ทะลุ 50 ล้านราย มั่นใจไม่เกิน 3 ปี คนไทยใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเป็น 30%

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า พันธกิจสำคัญของบริษัทคือการทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น จึงพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการใช้งานไว้ใน 3 ช่องทางหลัก ให้ผู้บริโภคเข้าถึงทั้งโมบายแอปพลิเคชั่น, ตู้คีออสก์ที่วางไว้ตามสถานีรถไฟและห้างสรรพสินค้า และเอเย่นต์ที่เป็นร้านค้าโชห่วยตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อช่วยทำธุรกรรมแทนบริษัทกับลูกค้า อาทิ การให้บริการจ่ายเงิน, โอนเงิน, เติมเงิน, ชำระบิลผ่านระบบของทรูมันนี่

ปัจจุบันให้บริการใน 5 ประเทศ คือ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีเอเย่นต์ 50,000 แห่ง ขณะที่ในไทยใช้ร้านสะดวกซื้อกว่า 12,000 แห่ง

“สิ่งที่อาลีเพย์จากจีน หนึ่งในผู้ถือหุ้นเรา และ ซี.พี.กรุ๊ป มุ่งมั่นคือนำนวัตกรรมไปสร้างประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่ในอาเซียนที่มีประชากร 120 ล้านคน และ70% อายุต่ำกว่า 40 ปี มีถึง 60% เข้าไม่ถึงธนาคาร อย่างในเมียนมาเดินทางถึง 3 ชั่วโมงเพื่อไปธนาคาร”

เพิ่มเอเย่นต์อีกเป็นเท่าตัว

โดยตามแผนธุรกิจของบริษัทใน5 ประเทศที่ให้บริการ ตั้งเป้ากระจายเอเย่นต์ให้ครอบคลุมกว่าเครือข่ายของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนั้น ๆ เพราะมีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงธนาคาร จึงต้องขยายเครือข่ายทรูมันนี่ให้มากที่สุด โดยปี 2561 ตั้งเป้าเพิ่มเอเย่นต์อีกเท่าตัว ขณะที่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้เปิดตัว 6 พันธมิตรตัวแทนร้านค้าที่รับชำระเงินทำให้ในสิ้นปี 2560 มีร้านค้าเพิ่มเป็น 1 แสนแห่ง

“ในหลายประเทศทำตลาดได้ดีมาก เช่น กัมพูชา มีเอเย่นต์ 6 พันราย แต่เงินหมุนเวียนในระบบของเอเย่นต์ทรูมันนี่มีมูลค่าคิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศเขา ใหญ่กว่าแบงก์ในประเทศนั้น ขณะที่ในปี 2561 ตั้งเป้าเพิ่มเอเย่นต์ให้มากเป็นเท่าตัว เพราะยังมีโอกาสอีกมหาศาลที่จะเติบโต”

สำหรับยอดผู้ใช้งานทรูมันนี่วอลเล็ตใน 6 ประเทศ มีผู้ใช้ 30 ล้านราย มีเงินหมุนเวียน ปีละ 1.6 แสนล้านบาท โตขึ้น 15% เทียบกับปีก่อน และปีหน้าน่าจะเติบโตชะลอลงเพราะฐานมูลค่าธุรกรรมที่ใหญ่ขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานตั้งเป้าว่าจะมี 100 ล้านคนในปี 2563 ทำให้สิ้นปี 2561 ควรมี 40-50 ล้านราย

ส่วนในประเทศไทยมีผู้ลงทะบียนใช้ทรูมันนี่วอลเล็ตกว่า 8 ล้านราย ใช้งานประจำกว่า 4 ล้านราย ไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าทรูมูฟ เอช

“50% เป็นลูกค้าทรู ที่เหลือเป็นลูกค้าเอไอเอสและดีแทค ถือว่าเริ่มรับรู้ว่าทรูมันนี่วอลเล็ต ทุกคนใช้งานได้ มีเป้าหมายเป็นซูเปอร์แอป ที่รวมไลฟ์สไตล์ทุกการใช้ชีวิตของคนยุคดิจิทัลให้คนไทยออกจากบ้านไม่ต้องพกเงินสดตั้งแต่การซื้ออาหาร ของออนไลน์ ออฟไลน์ ค่าเดินทาง รวมถึงมีสิทธิพิเศษส่วนลด ข้อมูลข่าวสารที่ลูกค้าจะได้รับเพิ่มเติม”

สังคมตื่นตัวก้าวสู่ยุคไร้เงินสด

นายปุณณมาศมองว่า สภาพตลาดปัจจุบันก้าวสู่สังคมไร้เงินสด โดยมีความตื่นตัวทั้งในภาคธนาคารและที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงผู้บริโภคเริ่มรับรู้และใช้ทั้งพร้อมเพย์และคิวอาร์โค้ดมากขึ้น ดังนั้นแนวทางการขยายตลาด แบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของ 5 ประเทศ

นอกจากไทย ต้องพยายามให้ความรู้เกี่ยวกับบริการ ให้เชื่อมั่นในเงินดิจิทัล ซึ่งตลาดในอาเซียนโตเร็วมาก

“ในเมียนมา เมื่อ 3 ปีก่อน ยังมีผู้ใช้มือถือไม่ถึง 15% แต่ปัจจุบันมี 90% กระโดดข้ามการพัฒนาประเทศ ปกติจะมีขั้นตอนการสื่อสารจากโทรศัพท์บ้านไปสูมือถือ ทำให้การสร้างความเชื่อมั่นในโลกดิจิทัลเกิดขึ้นเร็วกว่าไทย และจากที่ไม่เข้าถึงแบงก์ไปสู่การใช้บริการดิจิทัล”

ส่วนในไทยเติบโตน้อยกว่าอีก5 ประเทศ เพราะสถาบันการเงินก้าวหน้ากว่าทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่งในการพัฒนารูปแบบบริการใหม่ ๆ

“ปีที่ผ่านมาประเทศที่ทรูมันนี่เติบโตก้าวกระโดดคือ กัมพูชา ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็โตรวดเร็ว 200-300% ด้วยฐานลูกค้าที่เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการ 1-2 ปีเท่านั้น”

ลุยลงทุนพันล้านต่อเนื่อง

ขณะที่มูลค่าเงินในระบบมาจากการทำธุรกรรมในไทยและในอีก 5 ประเทศมีสัดส่วน 50:50 แต่ถ้าสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจในไทย 80% จากค่าบริการต่าง ๆ ที่เก็บจากบรรดาร้านค้าในระบบ รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการรับชำระบิล และส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทผู้ออกบิล

“รายได้ปีนี้น่าจะใกล้ ๆ 4,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 10-15% เราเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมและมีฐานลูกค้าที่แข็งแรง โดยปีนี้ลงทุนหนักมากเพื่อให้มั่นใจว่า ทั้งด้านเทคโนโลยีและการตลาด”

สำหรับการลงทุนด้านระบบ รวม 6 ประเทศแต่ละปีใช้เกินพันล้านบาท เฉพาะในไทยอย่างน้อย 500 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 วางแผนลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% อยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาท

นายปุณณมาศกล่าวต่อว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ปี 2560 แข่งขันกันดุเดือดมาก โดยเฉพาะการเปิดตัวคิวอาร์โค้ดที่บรรดาธนาคารตื่นตัวกันมาก และในปี 2561 จะขยายเข้าไปสู่กลุ่มผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้มากขึ้น

“คงต้องจับตาดูว่าผู้เล่นแต่ละรายจะเข้ามารุกตลาดต่อเนื่องแค่ไหน ไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้าดุเดือดแน่ ๆ คิวอาร์เพย์เมนต์ รีเทลเพย์เมนต์ เป็นการแข่งขันแบบวิ่งมาราธอน คือทำอย่างต่อเนื่องให้มีฐานร้านค้า ฐานลูกค้า และกระตุ้นทั้ง 2 ด้านต่อเนื่องได้อย่างไร ถือเป็นเรื่องยาก เพราะรวมไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค สอนร้านค้าเป็นเกมระยะยาว”

แต่ท้ายสุดสิ่งที่ต้องแข่งกันคือ จุดรับชำระของผู้ให้บริการแต่ละราย ใครจะครอบคลุมพื้นที่ มีจุดให้บริการมากกว่ากัน แต่ในความเป็นจริงแต่ละจุดครอบคลุมบริการได้เหมือนกัน เพราะอยู่บนฐานของบริการพร้อมเพย์

“ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รู้ ยังเข้าใจว่าเป็นเฉพาะแบงก์ที่โชว์โลโก้ ณ จุดบริการนั้น จึงต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคด้วยว่า ถ้าเห็นโลโก้พร้อมเพย์ เห็นคิวอาร์โค้ด ไม่ว่าจะเป็นป้ายสีอะไรก็ชำระเงินได้ ฉะนั้นสุดท้ายก็ต้องแข่งกันที่ประโยชน์ สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ลูกค้าและร้านค้าจะได้ เพราะร้านค้ามักเชียร์ให้ลูกค้าเลือกชำระด้วยช่องทางใดช่องทางหนึ่งเป็นพิเศษ”

ดังนั้นต้องเพิ่มงบประมาณการตลาดที่ใช้เพื่ออุดหนุนสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าและร้านค้า ซึ่งปกติใช้หลักพันล้านบาท

“ต้องเพิ่มขึ้นแน่ ๆ แต่ต้องออกแบบวิธีการที่คุ้มค่าและใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เพราะในแง่วงเงินที่มีอาจสู้คู่แข่งบางรายไม่ได้ ในแง่โอกาสตลาดต่างประเทศมีเยอะ ในไทยเป็นคนละเฟสของการพัฒนาที่ไปไกลกว่าหลายประเทศแล้ว คู่แข่งที่แท้จริงคือเงินสด ทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภคมั่นใจเงินอิเล็กทรอนิกส์”

และต่อไปเฉพาะคนกรุงเทพฯ จะใช้เงินสดน้อยกว่าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากปัจจุบันที่ ธปท.ระบุว่ามีอยู่ 15% ของการใช้จ่าย รวมบัตรเครดิต, เดบิตอีวอลเล็ต ขณะที่ประเทศเจริญแล้วมีถึง 70-80% จึงเชื่อว่าอีก 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน่าจะขยับไปที่ 30-40% ได้