“TDRI” แนะ 3 แนวทางดูแลผู้บริโภค ดีลควบรวม “ดีแทค-ทรู”

ทรู-ดีแทค

“TDRI” แนะ 3 แนวทางดูแลผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ จากดีลควบรวม “ดีแทค-ทรู”

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง

ว่าการควบรวมทรูกับดีแทคเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นทรู และดีแทค เนื่องจากผู้เล่นในตลาดลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แต่ส่งผลเสียต่อ “ผู้บริโภค” และบุคคลอื่น ๆ เช่น ดีลเลอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ดังนั้นไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร

นี่คือการควบรวมกิจการที่มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว ทำให้การควบรวมกิจการครั้งนี้ค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด และผู้ได้อานิสงส์ทางบวก คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท แม้แต่ “เอไอเอส”ที่ไม่ได้อยู่ในดีลนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นมาก ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่จะเหลือผู้เล่นเพียงสองราย

“การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านลบ คือผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจมีอำนาจต่อรองลดลง ธุรกิจสตาร์ตอัพที่จะได้รับการสนับสนุนก็จะมีโอกาสน้อยลง เพราะผู้สนับสนุนลดลง ส่วนรัฐบาลก็จะได้รับผลกระทบในแง่รายได้ที่ลดลง หากมีการประมูลคลื่นความถี่ เพราะผู้เข้าประมูลลดลง”

ทั้งยังมีผลกับระบบเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย เพราะผลของการควบรวมกิจการทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบหมด

ดร.สมเกียรติกล่าวด้วยว่าในต่างประเทศยังมีเครื่องมือวัดการผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือดัชนีการกระจุกตัว (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) ค่าสูงสุด 10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว ขณะที่การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมไทย อยู่ที่ 3,700 เพิ่มขึ้นที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่อนุญาต ให้มีการควบรวม ทั้งเสนอ 3 แนวทาง โดยแนวทางแรกไม่อนุญาตให้มีการควบรวม และหากดีแทคจะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอส และทรู

แนวทางที่สอง คือ อนุญาตให้มีการควบรวมแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก และต้องเข้มข้นในทุกมิติ โดยให้บริษัทที่ควบรวมกันคืนคลื่นบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย และแนวทางที่ 3 คืออนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) หรือผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตนเองแต่ทางเลือกนี้ ไม่เหมาะสมนัก เพราะ MVNO ไม่ได้เกิดง่าย ทั้งดูแลยากมากจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วจะแก้ไขในภายหลังยากมาก

“ตลาดมือถือในยุโรปจะไม่ยอมให้ควบรวม 3 ราย แล้วมาเหลือ 2 ราย แม้แต่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดเล็ก ๆ ก็ยังมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ราย ถามว่าทำไมไทยจะรองรับผู้เล่น 3 รายไม่ได้ ดังนั้นข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ กสทช.ต้องไม่ให้มีการควบรวม และหากดีแทคจะออกจากตลาด ก็ให้ขายให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ที่ไม่ใช่เอไอเอส และทรู อีกทั้งเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขัน มีต้นทุนที่ลดลง ก็จะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยกำหนดให้มีการใช้โครงข่ายร่วมกัน”