ธุรกิจปรับรับโลกเปลี่ยน เมื่อ ทรู-ดีแทค เลือกรวมกันเราอยู่

โลกเปลี่ยนจากสารพัดปัจจัยอยู่แล้ว และยิ่งเร็วขึ้นจากดิจิทัลดิสรัปต์ และวิกฤตโควิด-19 ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับ และเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันกับหลายสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจสู่อนาคต” มีตัวแทนผู้บริหารหลายองค์กรมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ทั้งในภาพใหญ่ที่เกี่ยวกับการลงทุน และสิ่งที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนเพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงการถอดบทเรียนการปรับตัวของบริษัทไทยให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล (Digitalization)

ที่น่าสนใจก็คือการตอบรับมาร่วมงานของตัวแทนจากเทเลนอร์กรุ๊ป และกลุ่มทรู แม้จะขึ้นคนละเซสชั่น แต่ทั้งคู่ให้เวลากับการพูดถึงดีลควบรวมธุรกิจระหว่างดีแทค (บริษัทลูกเทเลนอร์) และกลุ่มทรู ท่ามกลางความสนใจของหลายฝ่ายกับข้อกังวลถึงผลกระทบที่ (อาจ) จะเกิดขึ้น เมื่อสมรภูมิธุรกิจมือถือมีผู้เล่นลดลง

ย้ำจุดยืนควบรวม “ทรู-ดีแทค”

นายจอน โอมุนด์ เรฟฮัก ผู้อำนวยการอาวุโส เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า การควบรวมกิจการจะทำให้ดีแทคและทรูร่วมกันสร้าง “เทคคอมปะนี” ที่มีความเหมาะสมทั้งขนาด ความสามารถทางการเงิน และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและผู้ใช้บริการ

จอน โอมุนด์ เรฟฮัก

อีกทั้งการลงทุนในบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่หลังการควบรวม จะเป็นการลงทุนที่ใหญ่ และในระยะยาว ที่นอกจากจะทำให้การส่งมอบบริการ และนวัตกรรมที่ตรงใจลูกค้าได้หลากหลาย ยังสร้างโอกาสในการดึงดูด และพัฒนาบุคลากร

ตลอดจนสตาร์ตอัพทางเทคโนโลยีให้มีพื้นที่เติบโตในประเทศไทยด้วย ส่วนข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการนั้น ตนมองว่ามีระเบียบข้อบังคับของ กสทช.กำกับดูแลอยู่แล้ว

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์

ด้าน นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจก็เพื่อให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่แข็งแรงพอที่จะสู้กับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกทั้งหลายได้ และว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่าการแข่งขันสร้างทางเลือกมากมายให้ลูกค้า และทำให้ราคาลดลงมาโดยตลอด ดังนั้น “ค่าบริการ” เป็นเรื่องที่ควรกังวลน้อยที่สุด

ถ้าแข่งเท่าเทียมจะเพิ่มทางเลือก

ส่วนข้อกังวลเรื่องการผูกขาดตลาด นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เป็นการมองตลาดแบบเก่า แต่ปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมไม่ได้มีแต่บริการมือถือ และเป็นการแข่งกับผู้เล่นในตลาดเทคโนโลยีที่เป็นต่างชาติ ซึ่งอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการรายเดิมในประเทศ

นอกจากนี้ตลาดโทรคมนาคมยุคใหม่ ไม่ได้มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติที่เติบโตขึ้นมาได้ แต่ยังมีช่องว่างให้บริษัทนำเสนอบริการให้ลูกค้าเพื่อแข่งได้อีกมาก ซึ่งในมุมมองของกลุ่มทรู ควรเป็นการเสนอทางเลือกของบริษัทไทยที่สมน้ำสมเนื้อกับเทคคอมปะนีต่างชาติ

“การที่จะแข่งกับผู้เล่นระดับโลก พูดตรง ๆ เรื่องการรวมกันของพาร์ตเนอร์ คือเพื่อสู้กับโกลบอลเพลเยอร์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เราไม่อยากเห็นบริษัทไทยที่ป้อแป้ ไปสู้กับใคร”

ถ้าตลาดมีการแข่งขันเท่าเทียมกัน “ผู้ใช้” ย่อมได้ประโยชน์สูงสุด จากทางเลือกที่มีคุณภาพและหลากหลาย

“มองไปที่เวียดนาม มาเลเซีย ก็ล้วนสร้างเทคคอมปะนีดึงดูดคนที่มีความสามารถให้กลับมาอยู่ในประเทศ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราก็ควรเป็นเช่นนั้น”

5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่

ในฐานะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ผู้บริหาร “เทเลนอร์” กล่าวว่า เทเลนอร์ยังจะลงทุนในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยต่อ โดยเฉพาะด้าน 5G ที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ในสังคมยุคดิจิทัล

ซึ่งถ้าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ได้มากที่สุดก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทยต้องเผชิญกับขั้นตอนและข้อกำหนดมากมาย โดยเฉพาะด้านการกำกับ (Regulatory) และกฎหมาย (Legal)

ปรับกฎตามโลกเปลี่ยนดึงคนเก่ง

“การจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไทยเพิ่ม หน่วยงานกำกับดูแลของไทยควรมีความชัดเจน ต่อเนื่อง และเป็นธรรมทั้งต่อนักลงทุนและผู้บริโภค”

สำหรับภาคธุรกิจของประเทศไทย การปรับตัวมีความสำคัญมากในจังหวะที่เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในทุกส่วนของชีวิตคน ตั้งแต่การให้บริการด้านสุขภาพ ไปจนถึงด้านการศึกษา การมี Venture Capital (VC) ที่พร้อมลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพจึงสำคัญมาก

บริการโทรคมนาคมจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลในอนาคต เอเชียจะยังเป็นศูนย์กลางการเติบโตด้านดิจิทัล โดยเฉพาะไทย ซึ่งเทเลนอร์จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากยุโรปมาสนับสนุน Digitalization สำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กในไทยที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนานี้ และต่อยอดธุรกิจได้ต่อไป

นายวิธวินท์ อิทธิภาณุวัต กรรมการบริหาร Vertex Ventures Southeast Asia and India กล่าวว่า สิ่งที่มีปัญหามาก ๆ ในการพัฒนาวงการสตาร์ตอัพ คือเรื่อง “ทรัพยากรมนุษย์” ที่ไม่มีเส้นทางที่จะกลับมาเติบโตในประเทศไทย

“คนที่มีความสามารถเมื่ออยากกลับมาไทยกลับไม่มีสภาพที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นบริษัท ต่างจากสตาร์ตอัพหรือเทคคอมปะนีใหญ่ ๆ ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เขากลับมาบ้านเพราะมีเส้นทางอาชีพที่ดึงดูดคนมีทักษะให้เติบโตบนธุรกิจใหม่ ๆ”

เช่นกันกับอุปสรรคด้านเงินลงทุน ที่ธุรกิจสตาร์ตอัพส่วนใหญ่จะต้องไปให้สุด ส่วนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคเข้าใจว่ากำลังแก้ไข

ถอดบทเรียนยักษ์ธุรกิจ

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2421 เห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทั้งการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับธุรกิจที่เปลี่ยนไป บริษัทเองก็ปรับตัวต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นในธุรกิจขายยาขยายไปสาธารณูปโภค, การขนส่ง และพลังงาน

“การนำ 5G เข้ามามีส่วนร่วมจะขยายรูปแบบและความเป็นไปได้ทางธุรกิจได้มากมาย เช่น พัฒนาโมเดลพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ถ้าเราออกแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แต่ละบ้านซื้อขายไฟได้โดยตรงแบบ P2P ก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจพลังงานไปอีกมาก แต่สิ่งที่ต้องปรับให้ทันคือระเบียบ และกฎหมาย เพราะเทคโนโลยีพร้อมแล้ว”

ซีอีโอร่วมกลุ่มทรูพูดถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่การเป็น “เทคคอมปะนี” เกิดได้เร็วขึ้น คือการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพจะช่วยเรื่องการ “ปรับตัว” ทั้งด้านการทำงานและวิธีคิด

“ช่วงเริ่มต้นเรายังไม่รู้หรอกว่าต้องทำอะไร และต้องเดินไปทางไหน แต่ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อหาทางของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือ การร่วมมือกับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ เราพบว่าบางปัญหาที่แก้ไขไม่ได้มานาน พอได้นั่งคุยกับคนรุ่นใหม่แป๊บเดียว เขาเสนอทางออกและวิธีการได้”

การทำงานกับสตาร์ตอัพและส่งเสริมสตาร์ตอัพให้เติบโตจึงจำเป็นสำหรับการปรับตัวไปสู่ “ดิจิทัล”

ด้าน นายพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) พูดถึงการปรับตัวของเอสซีบีว่า ใช้วิธีแยกบริษัทไปทดลองสิ่งใหม่ ๆ คือ SCB10X และเปลี่ยนตัวเองเป็น “ยานแม่” คือจะไม่ใช่ “ธนาคาร” อีกต่อไป แต่จะเป็น “เทคคอมปะนี” โดย SCB10X แยกออกมาเพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ

“เราไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด แต่ต้องเริ่มทำก่อน สุดท้ายสิ่งเรามองว่าจะปรับตัวเพื่อเติบโตไปข้างหน้า คือการเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค”

“ผศ.ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์” คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสริมปิดท้ายว่า ไม่มีใครรู้ว่าการทรานส์ฟอร์ม หรือการปรับตัวต้องทำอย่างไร และใช้เวลาเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้คือ ต้องเริ่มทำ ไม่ใช่แค่เพื่อเติบโต แต่เพื่อ “อยู่รอด” ในโลกยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น