“ไร่ดีต่อใจ” ต่อยอดเกษตรทฤษฎีใหม่ สู่เส้นทางฟาร์มเมอร์เงินล้าน

รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ

เกษตรกรเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องพบเจอการเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน ทั้งวิถีที่ผลัดเปลี่ยนจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ไปสู่รุ่นลูก สภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ” ผู้ประกอบการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ทำเกษตรผสมผสาน-ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไร่ดีต่อใจ และประธาน Young Smart Farmer จังหวัดสระแก้ว ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนเองและสามีเป็นหนึ่งในคนที่ลาออกจากงานประจำมาเป็นเกษตรกรต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เข้าใจว่าหลายคนมองภาพการทำเกษตรด้วยจินตนาการสวยหรูอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ความเป็นจริง คนไม่สู้ก็ไปต่อไม่ไหว ฉะนั้นคนที่ทำเกษตรได้ต้องรักและชอบการทำจริง ๆ

“อาชีพเดิมเราเป็นพนักงานประจำเงินเดือนหลักแสน เมื่อเปลี่ยนจากวิถีชีวิตคนเมืองมาเป็นชาวสวนต้องปรับตัวพอสมควร โดยเริ่มทำเกษตรปลูกพืชผลตามกระแสตลาดประมาณปี 2557-2558 กระทั่งหันมาสนใจสิ่งที่มีอยู่ แล้วคิดต่อยอดต้นทุนเดิมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ถึงจับจุดได้”

“รัฐรินทร์” เล่าว่า ประมาณปี 2559-2560 ได้เข้าไปใน Young Smart Farmer ของจังหวัด ที่ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่อายุ 17-45 ปี มีโอกาสเรียนรู้หลักสูตรตั้งแต่การปลูกพืช การพัฒนา การขาย การตลาด มีเครือข่ายเชื่อมโยงกันเหมือนองค์กรหนึ่ง ที่ผลักดันนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ให้สามารถทำเกษตรเลี้ยงดูตัวเองได้ จนปัจจุบันได้รับเป็นประธานของจังหวัด และเป็นรองประธานเขตภาคตะวันออก รวมถึงเป็นคณะทำงานของ Young Smart Farmer Thailand แล้ว

โดยการทำเกษตรที่รับช่วงมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ต้องปรับวิธีการเพื่อพัฒนาให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นจากต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เจ็บไม่ให้จนทั้งคนทำและผู้บริโภค ด้วยการนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ เมื่อสร้างระบบเข้าที่เข้าทางมีตลาดรองรับก็เริ่มแบ่งปันตลาดกับชุมชน เริ่มหาเครือข่ายแล้วทำงานร่วมกัน เพราะผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ในจังหวัดสระแก้ว คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่กลับไปทำสวนจะเป็นทายาทเกษตรกรที่พ่อแม่เป็นเกษตรกรและมีต้นทุนอยู่แล้ว บางคนมีพื้นที่ไม่เยอะ แต่ก็สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ดี เช่น ทำพรรณดอกไม้ 1 ไร่ สร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน รายได้ขั้นต่ำจะอยู่หลักหมื่นต่อเดือน แต่ทุกผลผลิตที่ทำต้องมีใจรักถึงจะมีรายได้หมุนเวียนตลอด คนทำเกษตรมีหลายอย่าง หลายรูปแบบ หลายพื้นที่ หากตัดสินใจทำแล้วต้องรู้ว่าเราเป็นเกษตรแบบไหน เป็นรายใหญ่หรือรายย่อย ต้องรู้ว่าตลาดอยู่ตรงไหน

สำหรับไร่ “ดีต่อใจ” มีพื้นที่รวมประมาณ 40 ไร่ รายได้หลักจะมาจากไม้ผล แบ่งเป็น กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายและพันธุ์อีล่า ซึ่งเป็นไฮไลต์ของสวน 25 ไร่ มะม่วงแก้วขมิ้น 8-9 ไร่ รวม 400 กว่าต้น มะยงชิดปลูกแซมในสวนกระท้อนไม่เยอะมาก ที่เหลืออีกประมาณ 5-6 ไร่ เป็นแปลงนาสาธิตและพื้นที่นาปลูกข้าวไว้สำหรับกินเอง ที่เหลือเป็นบ่อน้ำเลี้ยงปลา โซนเลี้ยงหมูป่า ไก่พื้นเมือง และโคขุน มูลสัตว์เหล่านี้สามารถนำไปเป็นปุ๋ยในไร่และลดต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก ฟางในนาข้าวก็เก็บมาให้วัวกินได้ อีกทั้งมีสมุนไพรใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อใช้พื้นที่ให้คุ้ม เช่น กระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร

“รายได้ของไร่ดีต่อใจเบื้องต้นเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านบาท/ปี มาจากไม้ผลกว่า 60% ข้าว 20% สัตว์เลี้ยง 20% มีสัดส่วนการขายผ่านออนไลน์-ขายปลีกอยู่ที่ 10% ส่งห้างสรรพสินค้า 30% โมเดิร์นเทรด 30% และส่งพ่อค้าคนกลาง 30% ขณะที่ช่วงโควิด-19 ปีแรกทำยอดขายหายไปเกือบ 100% เพราะยอดบริโภคในประเทศลดลงมาก ผู้คนต้องเก็บเงินไว้ใช้กับสิ่งจำเป็น ในปีต่อมาจึงเริ่มวางแผนไม่ทำตลาดเดียวรายได้จึงกลับมา เช่น กระท้อนเกรดพรีเมี่ยมส่งห้างสรรพสินค้า เกรดโรงงานส่งให้โรงงาน และมีเกรดขายตลาดทั่วไป แทบจะขายได้ทุกขนาดทุกไซซ์แม้แต่ลูกเสียหรือบูดเบี้ยว”

ทั้งนี้ กระท้อนถือว่าเป็นผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้ชุมชนด้วย หากนับรวมทั้งชุมชนที่ปลูกอยู่มีประมาณ 287 ไร่ ภายในหมู่บ้านวังรี ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร ผลผลิตเกือบ 300 ตัน ในแต่ละฤดู

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันแพงก็ทำให้การทำเกษตรมีต้นทุนที่แพงขึ้น ตลอดจนค่าแรง ค่าขนส่ง โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 20-30% ต้องแจ้งลูกค้าว่าค่าขนส่งต้องราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ผลผลิตยังพยายามคงราคาเดิมไว้อยู่ และถ้าหากเกิดวิกฤตมากถึงที่สุด อาชีพเกษตรกรก็ยังเป็นโอกาส สามารถเลี้ยงคนและสร้างรายได้ มีความเสี่ยงน้อยกว่าอาชีพอื่น ชาวสวนไม่ตกงานแน่ ๆ มีอาหารกินตลอด แต่จะขายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น