ลดสเป็ก รถไฟฟ้าเชียงใหม่ รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะ 9.2 พันล้าน

รถไฟฟ้าเชียงใหม่

อัพเดตโครงการรถไฟฟ้าสายแรกจังหวัดเชียงใหม่ จากการจัดประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม 230 คน ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว ไฮไลต์ซึ่งมีการทบทวนโครงการทำให้มูลค่าลงทุนจาก 2.6 หมื่นล้าน ลดเหลือ 9.2 พันล้านบาท

ลดสเป็กเหลือ “รถไฟฟ้าล้อยาง”

ชื่อเต็ม ๆ “โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)” โดย “สาโรจน์ ต.สุวรรณ” รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า

ก่อนหน้านี้ รฟม.ได้จัดประชาพิจารณ์ครั้งแรกเมื่อปี 2563 มีรูปแบบผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน แต่เนื่องจากมีมูลค่าสูงถึง 26,595 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา

ต่อมากระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม.ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค ดังนั้นจึงจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 นำเสนอผลการศึกษา 3 รูปแบบ คือ

1.ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (steel wheel tram) แนวเส้นทางใต้ดินผสมระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย 2.ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (steel wheel tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง 3.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (tire tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง

โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี ความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ ศักยภาพรองรับปริมาณผู้โดยสาร ระยะเวลาก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษา ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสาร และรายได้อื่น) และด้านสิ่งแวดล้อม (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง และในระยะดำเนินการ)

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ “ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง” ออกแบบเป็นทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทาง ช่วยลดต้นทุนโครงการ บรรเทาผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงก่อสร้าง และใช้เวลาก่อสร้างสั้นกว่าแบบเดิม

“รฟม.และกลุ่มที่ปรึกษา CMTR จะนำความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาคาดว่าภายในปี 2566”

16 สถานี-20 บาทตลอดสาย

รายละเอียดรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทาง รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะฯ มีระยะทาง 16 กม. จำนวน 16 สถานี ได้แก่ 1.สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ 2.ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ 3.สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี 4.ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 5.แยกหนองฮ่อ 6.โพธาราม 7.ข่วงสิงห์ 8.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

9.ขนส่งช้างเผือก 10.มณีนพรัตน์ 11.ประตูสวนดอก 12.แยกหายยา 13.แยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ 14.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 15.บ้านใหม่สามัคคี และ 16.แม่เหียะสมานสามัคคี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ว่างใกล้สถานีแยกหนองฮ่อ

“วุฒิชัย พรรณเชษฐ์” ผู้จัดการโครงการศึกษาฯ รถไฟฟ้าสายสีแดง จ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทบทวนผลการศึกษาได้เสนอตัวเลือกแรกของการลงทุนเป็นรถไฟฟ้าล้อยางแบบมีรางประคอง เกณฑ์การประเมินอยู่ที่ 77.22 คะแนน โดยมีตัวแบบที่ใช้งานในประเทศฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ฯลฯ และปรับรูปแบบก่อสร้างระดับดินตลอดแนวเส้นทาง

จุดเน้นอยู่ที่สามารถลดการลงทุนเหลือ 9,255 ล้านบาท ทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ในการลงทุนมากขึ้น ลดปัญหาเวนคืนที่ดิน จากเดิมใช้วงเงิน 2,862 ล้านบาท เพื่อจัดทำบริเวณสถานีและแนวเส้นทาง ของใหม่เหลือเวนคืนที่ดิน 32.3 ไร่ 1,508 ล้านบาท บริเวณหนองฮ่อ เพื่อทำศูนย์ซ่อมบำรุง

สำหรับค่าโดยสารเสนอให้จัดเก็บ 20 บาทตลอดสาย (จาก 3 รูปแบบ 1.คิดค่าโดยสารตามสูตร 14+1X โดย X คือจำนวนสถานี 2.ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย 3.ค่าโดยสารแบบขั้นบันได 0-8 สถานี 15 บาท 9-16 สถานี 20 บาท) คาดว่าปีแรกที่เปิดบริการจะมีผู้โดยสารใช้ 15,000 เที่ยวคน/วัน ภายในเวลา 40 ปีคาดว่าเพิ่มเป็น 60,000 เที่ยวคน/วัน

โมเดลลงทุนเสนอเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost รัฐอุดหนุนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและลงทุนงานโยธา สัมปทาน 30 ปี ค่าโดยสารอัตราคงที่ 20 บาทตลอดสาย

ไทม์ไลน์หลังจากนี้คาดว่านำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อ รฟม. และกระทรวงคมนาคมภายในครึ่งปีแรก 2566 ตามแผนของ รฟม.คาดว่าเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายในปี 2567 และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนลงทุนในปี 2568