ภาคเหนือตอนล่างรับฝนปีหน้า เพิ่มแก้มลิงแก้น้ำท่วมซ้ำ

น้ำท่วม

5 จังหวัดเหนือตอนล่าง “นครสวรรค์-สุโขทัย-กำแพงเพชร-พิจิตร-อุทัยธานี” ผนึกกรมชลประทาน-สทนช. รับมือฝนปีหน้า ตั้งเป้าเพิ่มแก้มลิง หน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,000 ล้าน ลบ.ม.

รายงานข่าวจากจังหวัดนครสวรรค์เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี)

โดยการถอดบทเรียนจาก “บางระกำโมเดล สู่ สี่แควโมเดล” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น

เพื่อลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจ และเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้ง โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยการตัดยอดน้ำได้อย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม.ภายในปี 2566 สามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงสุดประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที

และจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำที่จะดำเนินการเพิ่มเติมภายในปี 2568 รวมประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. จะเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาเป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและสภาพอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพและความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี

โดยแยกตามประเภทพื้นที่รับน้ำและการเก็บกัก ได้แก่ 1.พื้นที่สาธารณะ บึงธรรมชาติ เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ โดยดำเนินการขุดลอก ยกระดับสันเขื่อนดิน เพื่อเก็บกักน้ำได้มากขึ้น 2.พื้นที่รับน้ำจากเทือกเขา เพื่อชะลอและเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำเกษตร และ 3.พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรการที่จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ

เพื่อเร่งดำเนินการหน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วที่สุดก่อนถึงฤดูฝนปี 2566 อย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง สทนช.จะสรุปพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบประมาณปลายเดือนธันวาคม 2565 ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป