เมื่อเดือนล้านนาสุดท้ายดับ ชีวิตที่เรียบง่าย…ของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ภาพจากเพจ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

การถึงแก่กรรมของเจ้ายาย “เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่” เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 สิริอายุ 93 ปี ในฐานะศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่ชาวเชียงใหม่เคารพรัก เหมือนดวงเดือนที่ฉายแสงในดินแดนล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ได้ดับลง เหลือเพียงเรื่องราว ประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังต้องจารึกและสืบค้นถึงรากคนเมืองล้านนาต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เจ้ายาย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เมื่อปี 2550 หรือราว 16 ปีที่แล้ว ในช่วงที่เจ้ายายอายุ 77 ปี กับชีวิตที่เรียบง่ายในบ้านหลังเล็กๆในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ได้สะท้อนความเป็นตัวตน และวิถีปฏิบัติไม่เปลี่ยนแปลง การวางตัว และการออกงานสังคมที่ได้รับการยอมรับในฐานะเจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งดินแดนล้านนา

สถานที่พำนักของเจ้ายายมิได้ใหญ่โตเหมือนวังโบราณในจินตนาการ บ้านเจ้ายายหลังนี้เป็นตึกเก่าสูงสามชั้นธรรมดาๆ ดูภายนอกไม่ได้หรูหราอะไร บริเวณรอบข้างเป็นหอพัก ชื่อ หอพักหอคำซึ่งเป็นธุรกิจเล็กๆ ของเจ้ายาย ตั้งอยู่ด้านหลังวิทยาลัยอาชีวะศึกษาเชียงใหม่

เจ้ายายไม่ได้พำนักที่ “ม่อนดวงเดือน” บนพื้นที่ 100 ไร่ ที่อำเภอจอมทองเพราะมีหมายงานต้องทำงานเพื่อสังคม เป็นประธานเปิดงานต่างๆในเชียงใหม่ ออกงานสังคมวันละ 4 – 5 งาน ด้วยวัย 77 ปี ในช่วงเป็นประธานสภาวัฒนธรรมเชียงใหม่

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ภาพจากเพจ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

“ปกติเจ้ายายจะอยู่ที่ม่อนดวงเดือนที่อำเภอจอมทอง ที่นั่นมันกว้าง สบาย ติดแม่น้ำปิงด้วย บรรยากาศดีมาก เหมือนเป็นอาณาจักรของเรา งานสังคมก็ทำไม่เคยปฏิเสธ หลังๆมานี้ออกงานบ่อยมากวันละ 4 – 5 งาน เช้าจรดเย็น เขาเชิญให้ไปเป็นประธานเปิดงานก็ต้องไป

ทีนี้พอเดินทางไปกลับบ่อยเข้าก็ไม่ไหว ไปมาลำบาก ร่างกายก็แย่ เหนื่อย ลูกหลานก็เลยขอให้มาอยู่บ้านในเมืองจะดีกว่า สะดวกดี เดินทางไปไหนก็ง่าย ตอนนี้ก็อยู่บ้านในเมืองเป็นหลัก“

เจ้ายายบรรยายถึงบ้านในเมืองหลังนี้ว่า บ้านหลังนี้เป็นที่สวน มีพื้นที่แค่ประมาณ 1 ไร่กว่าๆ แล้วก็ปรับมาทำหอพักให้นักเรียนอาชีวะเช่า มีประมาณ 70 กว่าห้อง และบริเวณใกล้เคียงในอดีตเป็นคุ้มเวียงแก้ว เป็นที่ประทับของพญามังราย ที่ดินผืนนี้ของเจ้ายายตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ก็เลยรู้สึกผูกพัน เพราะแถวนี้เป็นสถานที่สำคัญและมีความหมายในอดีต

พอเมืองโตขึ้น คนก็มาสร้างบ้านเรือนอยู่รอบๆ สวนของเจ้ายายกันเต็มไปหมด แต่ที่เจ้ายายชอบเพราะไม่ว่าข้างนอกคนจะจอแจ รถจะเยอะ แต่ที่นี่เงียบสงบอย่างน่าแปลก

เจ้ายายดวงเดือน เล่าให้ฟังว่า อยู่กับลูกชายคนที่ 2 คนนี้เขายังโสด พี่ ๆ น้อง ๆ เลยยกหน้าที่ให้เขาเป็นคนดูแลแม่ ส่วนลูกผู้หญิงอีก 3 คน เขาออกเรือนแต่งงานและก็แยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่นต่างที่ นอกจากนี้ ก็มีแม่บ้านเก่าแก่ที่อยู่รับใช้กันมานาน ก็มีครอบครัวเขา 4 คน และเด็กรับใช้อีก 2 คน

“เจ้ายายมีแผนจะสร้างบ้านหลังใหม่ในพื้นที่นี้ เพราะเดินขึ้นลงบันไดชักไม่ไหว จะสร้างบ้านชั้นเดียว อยากได้ที่เป็นบ้านหินอ่อน ผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นพื้นเมืองเหนือเข้าไปด้วย ตรงนี้ลืมไม่ได้เด็ดขาด มีระเบียงยื่นออกมาเอาไว้ดูดาวตอนกลางคืน แล้วก็คงต้องทุบบ้านหลังที่อยู่ปัจจุบันทิ้งจะได้มีพื้นที่กว้างขึ้น เอาไว้สร้างเสร็จเมื่อไร หนูก็มาเยี่ยมบ้านเจ้ายายอีกก็ได้นะ”

เจ้ายายบอกว่า บ้านหลังใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญหรอก สมัยนี้ทำบ้านใหญ่โตใช่ว่าจะสบาย ต้องดูแลคนจำนวนมาก กลายเป็นภาระที่เราต้องรับไว้ เมื่อก่อนเจ้ายายเติบโตมาในคุ้มหลวง มีคนรับใช้เยอะ เห็นความแตกต่างระหว่างเจ้านายกับคนรับใช้ว่าแตกต่างกันอย่างไร แต่เมื่อหมดยุคเจ้าแล้ว เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ บ้านที่แท้จริงควรเป็นบ้านที่เราได้อยู่อย่างสงบ สบายใจ มีความสุข เป็นระเบียบ และสวยงาม

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ภาพจากเพจ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

พร้อมกับให้แง่คิดการใช้ชีวิตของเจ้านายฝ่ายเหนือตลอดมาว่า เจ้ายายเติบโตมาในคุ้มหลวง ก็คงยังเป็นชาวคุ้มอยู่กระทั่งตาย เวลาตื่นนอนตอนเช้า คนรับใช้เขาก็ต้องมาไหว้เจ้าก่อน ที่ม่อนดวงเดือนทุกคนก็ปฏิบัติธรรมเนียมนี้ทุกคน บ้านหลังนี้ก็เหมือนกัน เด็กเขาตื่นนอนมาเขาก็มาไว้เจ้ายาย เป็นสิ่งสำคัญที่เจ้ายายยังยึดถือไว้อยู่ ส่วนการใช้ชีวิตในบ้าน

เราจะไปทำทุกอย่างเหมือนอดีตก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว โดยนิสัยส่วนตัวของเจ้ายายไม่ใช่คนฟุ้งเฟ้อ เราแค่พอมีพอกิน ไม่ถือเจ้ายศเจ้าอย่าง ทุกคนในบ้านอยู่กันสบายๆ แต่เจ้าย้ายจะเน้นความเป็นระเบียบ ความสวยงาม แค่นี้ก็มีความสุขได้

ส่วนการตกแต่งที่อยู่อาศัยของเจ้ายายจะเน้นการตกแต่งของเก่า โดยเน้นการจัดวางที่เป็นระเบียบ เน้นความสวยงามในแต่ละมุม และชอบการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไม้มงคล จะเป็นสิริมงคลต่อเจ้าของบ้าน หรือไม้สมุนไพร อย่างเช่น ต้นจิก ต้นคาวตอง หรือผักคาวตอง กินกับลาบ ต้นขิงแกง ว่านหางจระเข้ ดีปลี ต้นยอ ฟ้าทลายโจร เป็นต้น

ทั้งหมดคือเรื่องราวและความทรงจำที่มีคุณค่า ที่เจ้ายาย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เล่าไว้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

การดับลงของดวงเดือนเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เรียบง่ายในการใช้ชีวิต การอุทิศตนเพื่อสังคม ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงวิถีปฏิบัติของสายเลือดเจ้าล้านนาที่หยั่งรากลึกในมิติของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ที่ต่อไปจะกลายเป็นเพียงความทรงจำที่ได้จารจารึกไว้บนแผ่นดินแห่งล้านนาสืบไป