ประมงไทยร่อแร่ จี้แก้กม.แรงงานเลิกตามอียู !

13 สมาคมชาวประมงไทย กระทุ้งรัฐบาลเร่งทบทวนกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ เหตุทำผิดเล็กน้อยมีโทษถึงขั้นยึดเรือ ล่าสุดลูกเรือสบช่องช่วงผ่อนผันเปลี่ยนนายจ้าง แห่สมัครงานในโรงงาน พร้อมให้เร่งแก้ปัญหาขาดแรงงานกว่า 7 หมื่นคน เดินหน้าทำหนังสือเปิดผนึกถึงผู้แทนอียูให้หยุดก้าวก่ายกิจการประมงของเมืองไทย

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพร อำเภอเมืองชุมพร ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยสัญจร เพื่อรับฟังปัญหาของชาวประมงในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม มีคณะกรรมการบริหารสมาคมชาวประมงและสมาชิกจาก 13 สมาคม ประมาณ 200 คนเข้าร่วมประชุม อาทิ สมาคมชาวประมงหัวหิน สมาคมชาวประมงปราณบุรี (จ.ประจวบคีรีขันธ์) สมาคมชาวประมงด่านสวี สหกรณ์ประมงปัตตานี จำกัด (จ.ปัตตานี) เป็นต้น

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมดังกล่าวมีมติว่า 1.สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งมีข้อกำหนดหลายเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวประมงไทย เพราะเป็น พ.ร.ก.ที่ออกมาเพราะถูก EU (สหภาพยุโรป) กดดัน

2.ทำหนังสือเปิดผนึกถึงผู้แทน EU ในประเทศไทย เพื่อขอให้หยุดการก้าวก่ายกิจการประมงของเมืองไทย เพราะบริบทของประเทศในกลุ่มอียูกับบริบทของประเทศในเอเชียนั้นแตกต่างกัน และ 3.แสดงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการแทรกแซงกิจการภายในประเทศต่าง ๆ ของอียู เช่น ให้ไต้ก๋งและลูกเรือประมงทั่วประเทศสวมเสื้อยืดที่มีข้อความคัดค้านอียู

แก้ไม่ตก – สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมชาวประมงและสมาชิกจาก 13 สมาคม ร่วมประชุมที่จังหวัดชุมพร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของชาวประมงภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และผลกระทบจาก พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่


สำหรับ พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมา ไม่มีความเป็นธรรมต่อชาวประมงไทย เช่น การยึดเรือ หรือโทษปรับที่สูงมาก สหรัฐยังไม่มีข้อกำหนดที่หยุมหยิมมากมายเหมือนอียู แม้แต่บางประเทศในอียูเอง เช่น สเปน ยังมีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่กลับมาเข้มงวดกวดขันเรื่องนี้กับไทย ข้อกำหนดต่าง ๆ ควรออกมาเป็นนโยบายกว้าง ๆ แล้วให้แต่ละประเทศไปบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่กันเอง นอกจากนั้นอียูยังเลือกปฏิบัติ เพราะข้อกำหนดที่ใช้กับเกาหลีและฟิลิปปินส์ไม่มากมายเหมือนที่ใช้กับประเทศไทย

“กฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ถือว่าสร้างปัญหากับชาวประมงมาก แค่ทำผิดเล็กน้อย ก็มีโทษถึงขั้นยึดเรือ ถือเป็นการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาล เพราะการทำประมงผิดกฎหมายตามหลักสากลคือการกระทำต่อทรัพยากร แต่การยึดทรัพย์ของชาวประมงถือเป็นการละเมิดสิทธิ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม”

ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น ทางสมาคมก็เคยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้มานานกว่า 6 เดือนแล้ว ขณะนี้มีเรือประมงจำนวนมากที่ทำประมงไม่ได้ต้องจอดเทียบท่า โดยไม่มีแนวทางให้ชาวประมงว่าจะทำอย่างไร ทำให้ขณะนี้ทั่วประเทศขาดแคลนแรงงานประมงกว่า 74,000 คน และเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 สมาคมได้ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ด้านนายโกศล กูรมะสุวรรณ เลขานุการสมาคมชาวประมงเรืออวนซั้งและเรือร่วมปากน้ำชุมพร กล่าวว่า ชุมพรประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงราว 6,000 คนมานานกว่า 2 ปีแล้ว เพราะรัฐบาลไม่เปิดให้มีการจดทะเบียนด้วยการทำบัตรสีชมพู สมาคมเคยขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 83 ซึ่งเป็นอำนาจของกรมประมง แต่กลับมี พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่ออกมา ทำให้ชาวประมงเสียเปรียบมาก เพราะลูกจ้างประมงเปลี่ยนไปหานายจ้างใหม่ได้โดยนายจ้างเก่าไม่ต้องเซ็นยินยอม เพียงแต่ไปเซ็นรับสภาพหนี้ จากเดิมที่ต้องใช้แรงงานประมง 9-10 คน แต่ตอนนี้ต้องลดเหลือแค่ 6 คน ทำให้จับปลาได้น้อยลง