กนอ.นำทัพผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมโรดโชว์เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ลุยเจาะฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 นิคมอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2566 โดยมีการจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนในหัวข้อ “Manufacturing Game Changers! It’s Time for Thailand” รวมถึงการออกบูทของนิคมอุตสาหกรรมไทย
และยังมีการบรรยายในหัวข้อ “An Update of Investments in Thailand’s Industrial Estates” เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)
ทั้งนี้ กนอ.ให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อชักจูงให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนมูลค่า 3,700 ล้านบาท และยอดการเช่า/ขาย ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 200 ไร่
นักลงทุนญี่ปุ่นถือว่าเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,951 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 3,103,176.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ประมาณ 70% โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 2.อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 3.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 4.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม และ 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์
“เมืองนาโกยาเป็นผู้นำระดับประเทศในสายการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม วิศวกรรมหุ่นยนต์ และยานอวกาศ และมีท่าเรือที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด และเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า ซูซูกิ และฮอนด้า มอเตอร์ ถือเป็นกำลังหลักทางการเงินของญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง” นายวีริศกล่าว
การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนั้น ต้องยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่ไปกับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น
“การโรดโชว์ครั้งนี้จะแสดงถึงความพร้อมรับการลงทุนของนิคมอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งนำเสนอมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน และการสร้างระบบนิเวศในการลงทุนที่มุ่งสร้าง Smart & Sustainability เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตด้วยกัน”