กรอ.สุราษฎร์ฯ ชงท่าเรือใหม่ “กระจายรายได้” ท่องเที่ยวแสนล้านสู่บนฝั่ง

สุราษฎร์ฯชงท่าเรือใหม่

กรอ.จังหวัดสุราษฎร์ฯ ชงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเมนแลนด์แห่งใหม่ หวังกระจายรายได้ท่องเที่ยว 1 แสนล้านบาทมาบนฝั่ง จากปัจจุบัน 80% ของรายได้อยู่เฉพาะบนเกาะสมุย พร้อมวางแผนเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวบนฝั่งดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูงกลุ่มนี้ พร้อมจี้กรมเจ้าท่าเร่งรัดผลักดัน “ท่าเรือสำราญ” เกาะสมุย มูลค่า 15,000 ล้านบาท ที่ล่าช้ากว่าแผน

นายอาร์ม วงศ์อำไพพิสิฐ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (กรอ.จังหวัด) ได้มีการเสนอกรมเจ้าท่าก่อสร้างโครงการท่าเรือเมนแลนด์ หรือท่าเรือแวะพัก (port of call) แห่งใหม่ ใช้งบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท

โดยทางองค์บริหารส่วนจังหวัดเคยมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้าง อยู่บนพื้นที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา พร้อมเร่งรัดผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่าลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท เนื่องจากก่อนโควิด-19 ระบาด ปี 2562 จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5 ล้านคน แบ่งออกเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 3.5-4 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 1-1.5 ล้านคน ส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี

โดยรายได้ 80% เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาะ การเดินทางมี 3 ประเภท 1.บินตรงไปลงที่สนามบินเกาะสมุย 2.มาทางเรือสำราญ 3.เป็นชาร์เตอร์ไฟลต์บินลงสนามบินสุราษฎร์ธานี และนั่งรถต่อไปที่เกาะสมุย ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่บนฝั่ง จึงเสนอให้มีการสร้างท่าเทียบ และวางแผนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่คนบนฝั่ง

“ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีพบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของการท่องเที่ยว เพราะส่วนใหญ่รายได้อยู่บนเกาะสมุย นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่บินตรงลงสนามบินเกาะสมุย หรือแม้แต่เรือสำราญที่ทอดสมออยู่กลางทะเล ซึ่ง 1 ลำสามารถบรรจุคนได้ประมาณ 80,000 คน แต่ละลำมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 70-80% ประมาณ 56,000 คน โดยกลุ่มนี้จะต่อเรือเล็กมาเที่ยวเกาะสมุย 30% จะใช้เวลาเที่ยวเพียง 1 วัน และกลับขึ้นเรือ แต่เรือลอยลำอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์

โดยคนต่างชาติที่ไปเกาะสมุยมีกำลังซื้อสูง ไม่ชอบต่อเรือ หรือนั่งรถหลายต่อ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้มาเที่ยวบนฝั่ง จะมีการวางแผน 2 เรื่องคือ 1.ให้จังหวัดเร่งรัดแผนการสร้างท่าเรือสำราญ ให้เดินทางเข้ามาเกาะสมุยได้สะดวก 2.ขอให้ทางจังหวัดวางแผนทำท่าเทียบเรือเชื่อมโยงระหว่างฝั่งกับเกาะสมุย โดยใช้เรือเร็ว เช่น สปีดโบต ใช้เวลาเพียง 25 นาที และวางจุดท่องเที่ยวบนฝั่งเชื่อมโยง”

ที่ผ่านมาทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะก่อสร้างท่าเรือเพื่อสนับสนุนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่นั่งเครื่องบินมาลงสนามบินสุราษฎร์ธานี เพื่อเดินทางไปเกาะสมุย แต่ตอนนี้ได้มีการเปลี่ยนวิธีคิด ในเมื่อนักท่องเที่ยวอยู่บนเกาะแต่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเหมือนตัวเมือง ต่อไปในอนาคตจะเสนอเป็นแพ็กเกจเที่ยวสมุยและเที่ยวบนฝั่งเมนแลนด์ หลังจากมีการประชุมได้มีนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการในการศึกษา และให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาดำเนินการศึกษา

ขณะเดียวกัน ฝั่งเมนแลนด์มีความพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยว เพราะมีต้นทุนทางด้านวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงอาหาร ผลไม้ และแผนพัฒนาจังหวัดก็มีการพัฒนาเวลเนสทัวริซึ่มอยู่บนฝั่ง หลังจากมีการสำรวจบนเกาะสมุยกิจกรรมที่มีรายได้เพิ่มขึ้นคือกิจกรรมเวลเนส

สำหรับการท่องเที่ยว 3 เกาะหลักของ จ.สุราษฎร์ธานีคือ เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า ที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเลือกพักที่เกาะสมุย ส่วนเกาะเต่าจะเน้นการทำกิจกรรม เช่น ดำน้ำดูปะการัง ที่พักส่วนใหญ่เป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่วนเกาะพะงันห้องพักค่อนข้างน้อย เน้นการพักผ่อน ทำงานนอกสถานที่ ตอนนี้ทั้ง 3 เกาะจะผลักดันไปสู่ระดับโลก ขายทริปทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวโซนยุโรป

อนึ่ง กรมเจ้าท่ารายงานโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อ.เกาะสมุย อยู่ระหว่างที่ปรึกษาจัดทำรายงานหลักการฉบับสมบูรณ์ และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฉบับสมบูรณ์ ผลงานล่าช้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น หลังจากนี้ที่ปรึกษาจะจัดทำรายงานหลักการฉบับสมบูรณ์ส่งให้กรมเจ้าท่า

เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาต่อไป