เศรษฐกิจภาคเหนือมีทิศทางบวก คาดฟื้นตัวต่อเนื่องถึง Q3/2566

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) เผยภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2566 ปรับดีขึ้น จากรายได้เกษตรกร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว คาดฟื้นตัวต่อเนื่องถึง Q3/2566

วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2566” ซึ่งภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2566 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากรายได้เกษตรกร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

นางพรวิภากล่าวว่า จากทั้ง 2 เรื่องชี้เศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้การจ้างงานทยอยปรับดีขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคและการลงทุน รายได้เกษตรกรขยายตัว ทั้งด้านผลผลิตโดยเฉพาะข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูง

ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมก็ดีขึ้นตามการผลิตหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และชิ้นส่วนยานยนต์ ภาคท่องเที่ยวก็ฟื้นตัว จากนักท่องเที่ยวไทยในช่วงวันหยุดยาวต้นไตรมาส และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดแรงงานปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ขอสิทธิว่างงานลดลง และรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรทยอยฟื้นตัว

สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น มีทั้งในหมวดสินค้า หมวดอุปโภคบริโภค สินค้ากึ่งคงทน และหมวดบริการ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ตามการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยอดจำหน่ายจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัว ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนหลังเร่งไปในไตรมาสก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อน จากหมวดพลังงานและอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

นางพรวิภากล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/2566 คาดว่าอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้น โดยเครื่องชี้สำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเครื่องชี้ภาคการเกษตร ที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มที่ดี ขณะที่ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคและการลงทุน

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากปริมาณฝนที่ลดลงจากภาวะเอลนีโญ ทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และความเชื่อมั่นที่อาจถูกกระทบจากสถานการณ์การเมือง

นางพรวิภากล่าวอีกว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ยังมีลูกหนี้บางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า

จึงปิดจบหนี้ไม่ได้ ธปท.จึงจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ก่อนคือ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งของเกณฑ์ responsible lending คือ การกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) หรือกลุ่มที่ยังจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ

โดย ธปท.จะออก consultation paper ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะบังคับใช้เกณฑ์ responsible lending และ persistent debt ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และ 1 เมษายน 2567 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.ด้วย