หออุบลฯคาดเศรษฐกิจครึ่งหลังโต ธุรกิจความงามพุ่ง “ลาว-กัมพูชา” แห่ใช้

หออุบลฯ

หอการค้าอุบลฯคาดครึ่งปีหลังภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดโตขึ้น 1.5-3% รายได้หลักธุรกิจท่องเที่ยว-ค้าชายแดน-ภาคเกษตร เผยธุรกิจโรงพยาบาล-ความงาม-สุขภาพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่ม คนลาว-กัมพูชานิยมข้ามมาใช้บริการ ชี้ปัจจัยลบ หนี้สินครัวเรือนสูง ตั้งรัฐบาลล่าช้า เบิก-จ่ายงบประมาณช้า หวั่นกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมดันเปิดด่านค้าขายเพิ่มขึ้น 2 จุด

นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าช่วงครึ่งหลังปี 2566 ตัวเลขเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานีน่าจะเติบโตขึ้น 1.5-3% โดยรายได้หลักมาจาก 4 ส่วน ได้แก่ 1.รายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อความกังวลในเรื่องโควิด-19 ลดน้อยลงแล้ว การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น 2.รายได้จากการค้าชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว และระหว่างไทย-กัมพูชา

3.รายได้จากภาคเกษตร และ 4.เรื่องการบริการทางการแพทย์ ที่มีศักยภาพพร้อมรองรับผู้ป่วยทั้งภายในจังหวัด และลูกค้าจากต่างประเทศ ทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชาที่นิยมเดินทางข้ามมาใช้บริการค่อนข้างมาก ในอนาคตเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงธุรกิจเรื่องการดูแลสุขภาพหรือแม้แต่ธุรกิจความงามระหว่าง ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก

ตอนนี้มีการเดินทางท่องเที่ยวในเทศกาลสำคัญ ยกตัวอย่างช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 มีงานแห่เทียนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่ มีกิจกรรมต่อเนื่องกัน 3-4 วัน ผู้คนเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองอุบลราชธานีได้เป็นอย่างดี ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวคึกคัก ตั้งแต่สายการบิน โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ตลอดจนการเดินทางมาด้วยตัวเอง

หลังจากนั้นก็เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว มีกิจกรรมอื่น ๆ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้ตลอด และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นการท่องเที่ยวธรรมชาติของอุบลราชธานี เช่น ภูเขา น้ำตก ไปจนถึงปลายปีเกษตรกรก็เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นักท่องเที่ยวทั้งจากไทยและต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวอุบลราชธานี ยังสามารถข้ามไปเที่ยวยัง สปป.ลาวและกัมพูชาได้ด้วยระยะทางไม่ไกลกัน โดยความกังวลในเรื่องโควิด-19 ลดน้อยลงแล้ว และทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินทางเชื่อมโยงกันได้ปกติ การท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีจึงเริ่มดีขึ้น

“ก่อนแห่เทียนพรรษา 1 เดือน ที่พักถูกจองเกือบเต็ม 100% เมื่อเทียบบรรยากาศในปี 2565 ที่มีตัวเลขคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวประมาณ 25,000 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาท/คน รวมเงินสะพัดกว่า 200 ล้านบาท ในปี 2566 ตัวเลขไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองและได้รับความนิยมยังเป็นภาคการท่องเที่ยว ทั้งในพื้นที่และข้ามเขตภูมิภาคอื่น

โดยนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้นำคาราวานไปเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเวียดนามด้วย เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากเวียดนามเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยจัดเส้นทางการบินตรงมาลงสนามบินจังหวัดอุบลราชธานี และในอนาคตอยากให้มีอีกหลายเมืองเชื่อมโยงการท่องเที่ยวมากขึ้นอีก”

นายมงคลกล่าวว่า นอกจากเรื่องการท่องเที่ยว การค้าชายแดนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจจังหวัดอุบลราชธานีให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างด่านช่องเม็ก มีมูลค่าการค้าโดยภาพรวมเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท/ปี ยังไม่รวมกับด่านหลักอื่น ๆ ที่เชื่อมการค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว

และทางหอการค้ากำลังผลักดันให้เปิดการค้าขายเพิ่มขึ้นในด่านอื่น ๆ อีก 2 จุดที่อำเภอนาตาลและจุดผ่อนปรนช่องอานม้าเชื่อมกัมพูชา ในอนาคตอาจจะผลักดันให้คนกัมพูชาสามารถเข้ามาซื้อขายสินค้าได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แม้ภาพการจับจ่ายใช้สอยตลอดจนการช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าจะมีผู้คนคึกคัก แต่หนี้สินครัวเรือนกลับสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ ลดน้อยลง

รวมทั้งการพักชำระหนี้ไม่มีแล้ว ฉะนั้นกลุ่มเปราะบางจึงได้รับผลกระทบมาก ส่วนคนที่มีศักยภาพยังคงพอเดินต่อไปได้ ส่วนสถาบันการเงินมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น จึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างมาก และยังมีปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศ คือ เศรษฐกิจโลก การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลอกจนความผันผวนของราคาน้ำมัน สงคราม และความขัดแย้งในหลายประเทศ

“จากปัจจัยบวก และปัจจัยลบจากภายนอก รวมกับความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลของไทย เป็นกระทบทำให้นักลงทุนทั้งคนไทยและต่างประเทศชะลอการตัดสินใจลงทุน หากงบประมาณของภาครัฐสะดุดจะทำให้ทุกอย่างชะลอตัว เราจึงคาดหวังให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ไม่อยากให้เกิดภาวะสุญญากาศ หากล่าช้าจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลงไปอีก และเป็นกังวลเรื่องการเบิก-จ่ายงบประมาณปี 2567 ที่จะพิจารณาไม่ทัน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย”