DSI พบเพิ่ม 2 บริษัทนำเข้าหมูเถื่อน ดึง ปปง. ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน

กรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงความคืบหน้าคดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน หลังตรวจค้น 11 บริษัทเกี่ยวข้องพบเพิ่มอีก 2 บริษัท ดึง ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน คาดกระบวนการมีนายทุนหนุนหลัง

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 พ.ต.ต.ณัฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า กรณีกระบวนการนำสินค้าประเภทซากสัตว์และสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ล่าสุดวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ได้ตรวจค้นบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวน 11 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ขวัญชัย เทคโนโลยี แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด 2.บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด 3.หจก. กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช 4.บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด

5.บริษัท อาร์.ที.เอ็น.โอเวอร์ซี จำกัด 6.บริษัทเรนโบว์ กรู๊ป จำกัด 7.หจก. สหัสวรรษ ฟูดส์ 8.บริษัท ซีเวิร์ด โฟรเซ่น ฟูด จำกัด 9.บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 10.บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 11.บริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติกส์

โดยบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลพบุรี และนครปฐม และจากการสอบสวนเพิ่มพบบริษัทที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 2 บริษัท ซึ่งอยู่ภาคใต้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลบริษัทจากกรมธุรกิจการค้าก่อน ว่าเป็นบริษัทของใคร ตั้งอยู่ที่ไหน

“จากการเข้าตรวจค้นทั้ง 11 บริษัท พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กและมีการปิดเลิกกิจการไปแล้วบางส่วน และคาดว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้กระทำผิดจริง โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อมูลบางส่วนพบว่ามีนายทุนอยู่เบื้องหลัง”

ขณะที่ของกลางที่มีการยึดไว้จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ได้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ กรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร คาดว่าจะมีการทำลายภายในเดือนกันยายน

ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์ ทับสาร หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางกรมสอบสวนฯ จะเชิญสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งการนำเข้าหมูเถื่อนจะต้องมีการโอนเงินไปต่างประเทศเพื่อที่จะซื้อสินค้าเข้ามา ซึ่งทาง ปปง.จะมีข้อมูลในส่วนนี้