บทเรียนจากเมืองพัทยา สู่นโยบาย “ผู้ว่าฯ CEO”

บทเรียนจากเมืองพัทยา
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

หนึ่งในร่างนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงวันที่ 11 กันยายน 2566 ระบุ นโยบายการกระจายอำนาจด้วย “ผู้ว่าฯ CEO”

โดยขยายความเพียงสั้น ๆ ว่า เป็นการบริหารแบบกระจายอำนาจ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย

“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายยุคพูดถึง หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนเรียกร้องกันมาหลาย 10 ปี เช่น จังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมาเรียกร้องขอเป็นจังหวัดที่มี “ระบบบริหารจัดการแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ” มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนกรุงเทพมหานคร

แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่บรรลุเป้าหมาย !

แม้ในยุครัฐบาลทักษิณ ปี 2544-2545 เคยทดลองนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ชัยนาท ลำปาง ภูเก็ต และนราธิวาส โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเสมือนแม่ทัพใหญ่สั่งการหัวหน้าส่วนราชการ ภายในจังหวัดได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ 
ภายในจังหวัดได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากส่วนกลาง แต่ด้วยโครงสร้างการทำงานของระบบราชการที่ฝังรากลึก และบุคลากรที่เคยชินกับระบบราชการ ทำให้ “จังหวัดนำร่อง” ไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร

รูปธรรมอีกบทเรียนที่สะท้อนชัดผ่าน “ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์” นายกเมืองพัทยา เคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังรับตำแหน่งครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ว่า ผมในฐานะนายกเมืองพัทยาที่มาจากการเลือกตั้ง เมืองพัทยาเป็น

“องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” หลายคนเข้าใจว่า อำนาจการบริหารจัดการเมืองพัทยาอยู่ในมือนายกเมืองพัทยา

“แต่เรากลับไม่ได้อำนาจพิเศษในการบริหารอย่างแท้จริง เมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่ากับเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งเท่านั้น”

ยกตัวอย่าง ด้านการจราจรเป็นของตำรวจ พื้นที่สาธารณะเป็นของทางจังหวัด บนพื้นที่ชายหาดและทะเล เป็นอำนาจของกรมเจ้าท่า ที่ให้เมืองพัทยาประสานงานดูแลร่วมกันตลอด ไม่มีอำนาจที่สามารถตัดสินใจได้เองอย่างเด็ดขาด เช่น หากต้องใช้พื้นที่สาธารณะต้องเรียนถามผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น แม้ทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกันอย่างดี

ด้านงบประมาณ เมืองพัทยาสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 300,000 ล้านบาทต่อปี แต่ได้งบประมาณกลับมาพัฒนาเมืองพัทยาเพียง 3,000 ล้านบาทเศษ หรือเพียง 1% กว่าเท่านั้น โดยผู้มีอำนาจจากส่วนกลางพิจารณาโดยดูจากจำนวนประชากรที่อยู่ในทะเบียนบ้านเพียง 1.2 แสนคน ไม่ได้ดูจำนวนประชากรแฝงเข้ามาทำงานมากกว่า 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ ยังมีคนต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาพักอาศัย

โดย “ปรเมศวร์” ฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาดูแลข้อจำกัดการกระจายอำนาจ อยากให้แต่ละหน่วยงานมีอำนาจตัดสินใจให้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น

ดังนั้น นโยบายการกระจายอำนาจด้วย “ผู้ว่าฯ CEO” ที่ฟังดูแล้วทำให้หลายจังหวัดมีความหวัง พร้อมทั้งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย จะเป็นรูปธรรมได้แท้จริงแค่ไหน…คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์