ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกระอักเจอถล่มราคา หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเหลือ 51 บาทต่อ ก.ก. ทั้งบริษัทผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่-ห้างสรรพสินค้า-สินค้าธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์-หมูเถื่อน ลงมาเล่นตลาดขายปลีก ลดราคาหมูเนื้อแดงเหลือ 50-80 บาทต่อ ก.ก. ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาตินัดถก 20 บริษัทรายใหญ่ แก้ปัญหาหมูล้นตลาด หลังได้ข้อสรุปเร่งส่งออก 10% ตัดวงจรทำหมูหัน 4.5 แสนตัวใน 3 เดือน
นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากการถูกถล่มราคาอย่างหนักจาก 4 ด้าน ได้แก่
1.บริษัทผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่บางรายได้ขยายการทำตลาดขายปลีกมาลงตลาดระดับล่าง ทั้งตลาดนัด ขายออนไลน์ และมาตั้งตู้ขายชิ้นส่วนหมูสดในร้านขายของชำในหมู่บ้านในราคาถูกมาก เช่น เนื้อแดงขายส่งในราคา 70 บาท/กก.
2.ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ก็ลดราคาขายหมูเหลือ 50-70 บาทต่อ กก.
3.ตลาดออนไลน์ คาดว่าจะเป็นหมูเถื่อนบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ในตลาด โดยขายหมูเนื้อแดงพร้อมส่ง ราคา 70-80 บาท
4.กระทรวงพาณิชย์เปิดจุดจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด โดยกำหนดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 50-60% ทั้งหมูเนื้อแดงขายเหลือ 60 บาท/กก. บอกเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน
“ผู้เลี้ยงรายย่อยรวมตัวกันไปร้องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปร้องที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หอบความหวังไปเต็มที่ ทั้งเหนื่อย ทั้งล้า เราก็ทน หวังว่า รัฐบาลจะมีข่าวดีให้ ถ้ามีนโยบายออกมาแบบนี้พวกเราคงสูญพันธุ์ในอีกไม่นาน”
ถก 20 ผู้เลี้ยงใหญ่ตัดวงจร
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เชิญกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ 20 รายแรกของประเทศไทย มาร่วมประชุมเพื่อหารือถึงทางออกในการแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำสุดในประวัติการณ์ โดยราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลงมาถึงจุดต่ำสุดที่ 51 บาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 80-90 บาทต่อ กก. เท่ากับขาดทุนตัวละกว่า 3,000 บาท เนื่องจากมีปริมาณหมูออกสู่ตลาดมาก ขณะที่กำลังการบริโภคลดน้อยลง
ปริมาณหมูเพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) โดยก่อนโรค ASF ระบาด ประเทศไทยเคยมีปริมาณแม่พันธุ์หมูมากที่สุด 1.2 ล้านแม่ แต่วันนี้ปริมาณแม่หมูเพิ่มกลับมาที่ 1 ล้านแม่แล้ว แต่ด้วยปริมาณการบริโภคที่ตกต่ำ และจะยิ่งหนักขึ้นหากเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน (15-23 ต.ค. 66) จะทำให้มีปริมาณหมูสะสมเพิ่มขึ้น ราคาจะดิ่งลงหนักอีก
“ช่วงนี้เรามองว่าอัตราการบริโภคต่ำมาก ๆ ฉะนั้นต้องหาแนวทางแก้ไข วันนี้ราคาหมูต่ำไปลงกว่า 55 บาทแล้ว ราคาวัตถุดิบ ขึ้นประมาณ 30-40% ยิ่งซ้ำเติม 2 เด้ง คือ ต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงขึ้น แต่ต้องขายหมูราคาถูกลง สถานการณ์หมูตอนนี้ ระยะห่างจากการขาดทุนมันเริ่มมากขึ้น เพราะว่าราคาหมูลงมาถึงจุดต่ำสุดที่เคยเป็นประมาณ 50 กว่าบาท ผู้เลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 50-51 บาทต่อ กก. ขาดทุน 3,000 บาทต่อตัว ผู้เลี้ยงแถวนครปฐม ปทุมธานี ขายราคา 55-56 บาทต่อ กก. ดังนั้นตอนนี้ผู้เลี้ยงทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยกันก็เละ”
เร่งทำหมูหัน 1.5 แสนตัว/เดือน
นายนิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำที่คุยกันไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดถึงวิธีการปฏิบัติ ดังนั้น จึงต้องให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่มาหารือกันให้เป็นรูปธรรม ได้ข้อสรุป แผนระยะสั้น ต้องส่งออกให้ได้ประมาณ 10% ส่งออกไปประเทศเวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งกำลังประสบปัญหาโรค ASF ทำให้ปริมาณหมูขาดตลาด ไม่เพียงพอบริโภคภายในประเทศ โดยให้สมาคมประสานรวบรวมโบรกเกอร์ที่ส่งออก โดยต้องฟิกซ์ราคาขายและจำนวนให้ชัดเจนเป็นระยะเวลา 3 เดือน หากราคาผันผวนขึ้นลงโบรกเกอร์ก็ไปขายลำบาก
ระยะกลาง เสนอให้ตัดวงจรลูกสุกรที่ล้นตลาดอยู่ 4,000-5,000 ตัวต่อวัน หรือประมาณ 150,000 ตัวต่อเดือน เฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีแม่พันธุ์ขนาด 3,000 ตัวขึ้นไป นำไปทำหมูหันเป็นระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นจำนวนหมูประมาณ 450,000 ตัว โดยจะขอเงินงบประมาณชดเชยให้เกษตรกรในการทำหมูหันตัวละ 400 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นผลอีก 6 เดือนข้างหน้า
แผนระยะยาวเสนอขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ ปลดแม่พันธุ์หมู ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไข โดยความสมัครใจของฟาร์ม ซึ่งทุกฟาร์มพร้อมดำเนินการ ซึ่งหากทำวันนี้จะเห็นผลอีก 1 ปีข้างหน้า ปริมาณหมูในระบบจะลดลง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ หลังเริ่มตามแผนที่วางไว้ จะสามารถตัดผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบ ในอนาคตอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ลูกหมูที่ตัดวงจรออกไปทำหมูหัน 450,000 ตัว จะทำให้ปริมาณสุกรในระบบมีความสมดุล สุกรมีชีวิตในระบบจะเกิดเสถียรภาพราคา สูงกว่าราคาต้นทุนการผลิต ช่วยแก้ปัญหาราคาหมูที่ตกต่ำได้
“วันนี้ต้องเร่งทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้รวดเร็ว หากล่าช้าราคาตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จากปริมาณหมูที่ล้นตลาด จะถูกพ่อค้ากดราคาต่ำลงอีก ตอนนี้ทุกคนที่มีหมูอยู่ในมือ เมื่อน้ำหนักได้ที่ ก็รีบขายหมูออกมา ราคาเท่าไหร่ต้องขาย เพราะต้นทุนวัตถุดิบสูง เก็บไว้ยิ่งขาดทุนหนัก แทนที่จะขาดทุนต่ำลงไปเรื่อย ๆ
ต้องมาช่วยกันตัดวงจรหมูขุน และแม่หมูออกจากระบบให้ต่ำลงไป 10% ราคาจะได้วิ่งขึ้นเข้าสู่ราคาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กำหนด ตามโครงสร้างราคาที่กรมการค้าภายใน และกรมปศุสัตว์ประเมินต้นทุนการเลี้ยง เดือนตุลาคม 2566 ประมาณ 83 บาท ต้องทำให้ราคาไต่ขึ้นไปให้ได้ ให้ขาดทุนน้อยที่สุด จนกว่าจะปรับรูปแบบระบบฐานของดีมานด์และซัพพลายให้เหมาะสมกับตลาด
ทั้งนี้ ข้อเสนอของผู้เลี้ยงรายย่อยที่ต้องการขายตามโครงสร้างราคา ต้องพยายามปรับให้ตามโครงสร้างราคา โดยอาศัยกลไกตามดีมานด์และซัพพลาย ตัวซัพพลายผู้เลี้ยงต้องเป็นผู้บริหารจัดการ หากจัดการได้ดีก็จะวิ่งเข้าใกล้ต้นทุนได้ไว ถ้าจัดการไม่ดี ก็ยังดิ่งลงอย่างนี้”
สำหรับการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศตอนนี้น้อยลง เพราะราคาหมูในประเทศตกต่ำกว่าราคาหมูเถื่อน หากราคาหมูภายในประเทศสูงขึ้น การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศจะกลับมา เท่าที่ทราบหมูเถื่อนต้นทุนมาประมาณ 50 บาท ต้องบวกค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้นทุนอยู่ประมาณ 70 บาทเช่นกัน