“เบญจนาฏ คงเจริญ” ปั้น “น้ำพริก” หอยนางรม โอท็อป 5 ดาว ของดีเมืองสุราษฎร์

คอลัมน์ New Gen 4.0

นับเป็นการผลัดเปลี่ยนธุรกิจจากรุ่นแม่สู่ทายาทรุ่นลูก สำหรับสินค้าโอท็อป 5 ดาว อย่างน้ำพริกหอยนางรมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสนธิวัฒน์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เริ่มทำน้ำพริกมาตั้งแต่ปี 2531 ก่อนที่ “เบญจนาฏ คงเจริญ” เข้ามาดูแลกิจการต่อจากคุณแม่ “วิมล คงเจริญ” ในปี 2547

แม้หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เบญจนาฏจะทำงานอยู่ในกรุงเทพฯมาร่วม 10 กว่าปี แต่มองเห็นโอกาสในธุรกิจ เพราะน้ำพริกของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสนธิวัฒน์เป็นสินค้าชุมชนตัวแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับมาตรฐานเครื่องหมาย อย.แล้วในขณะนั้น ไม่นานเบญจนาฏได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ทั้งฉลาก บรรจุภัณฑ์ และทำการตลาดน้ำพริกอย่างจริงจัง เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่การเก็บสถิติ การหาข้อมูล เพื่อทำผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

ในรุ่นคุณแม่วิมลมีการผลิตเพียงน้ำพริกเผาหลากรสชาติเท่านั้น เบญจนาฏจึงเริ่มพัฒนาโดยนำ “หอยนางรม” วัตถุดิบขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาเป็นส่วนประกอบ กลายเป็นน้ำพริกเผาหอยนางรม ต่อมาทำน้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลา รวมถึงน้ำพริกอีกหลายรสชาติเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีการออกร้านขายตามงานต่าง ๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับลูกค้า บางคนไม่กินน้ำพริกเผา จึงเริ่มทำน้ำพริกหลากหลายชนิด ทำให้มีผลตอบรับจากลูกค้าดีขึ้น

เบญจนาฏเล่าว่า คุณแม่เป็นคนทำสูตรน้ำพริกขึ้นมา ร่วมทำผลิตภัณฑ์กับคนในชุมชนกว่า 50 คน เมื่อเข้ามาสานต่องานจึงได้ดึงเอกลักษณ์ของหอยนางรมเข้ามาใส่ ทั้งน้ำพริกนรกหอยนางรม น้ำพริกไตปลาหอยนางรม ทุกอย่างเป็นหอยนางรม ทำให้เป็นจุดขายที่แตกต่างจากรายอื่น ปัจจุบันมีน้ำพริกอยู่ประมาณ 10 ชนิด โดยทุกชนิดกว่า 50% มีส่วนผสมของหอยนางรม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาจากในพื้นที่ และน่าจะเป็นน้ำพริกเพียงเจ้าเดียวในจังหวัดที่ใช้หอยนางรมเป็นส่วนผสม

Advertisment

การทำตลาดนอกจากการออกร้าน ได้นำไปวางขายในสนามบิน นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่จะนิยมซื้อเป็นของฝาก ขณะเดียวกันปัจจุบันเริ่มมีการสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้น โดยลูกค้าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานอายุ 40 ปีขึ้นไป

Advertisment

ปัจจุบันสัดส่วนการตลาด แบ่งเป็นยอดขายจากร้านค้าในสนามบินได้มากสุด 50% การขายแบบไปออกร้าน หรือขายหน้าร้าน 40% และการขายผ่านออนไลน์ประมาณ 5-10% ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของธุรกิจเพิ่มขึ้น ประมาณ 10-20% นับตั้งแต่ปี 2557 โดยลูกค้าประจำอยู่ที่หาดใหญ่ แต่มีลูกค้าจากที่อื่นบ้าง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ราคาขายน้ำพริกทั่วไปเริ่มตั้งแต่ 50-100 บาท ส่วนราคาขายสูงสุดผ่านตลาดออนไลน์ เช่น ใน Lazada อยู่ที่ 180 บาท ยกตัวอย่าง น้ำพริกนรก ชนิดแห้งน้ำหนัก 90 กรัม กับน้ำพริกนรก เปียก น้ำหนัก 180 กรัม ราคาขายเท่ากันที่ 100 บาท

“เราเลือกทำตลาดบน เพราะคู่แข่งน้อยกว่าตลาดทั่วไป แต่เราผลิตของคุณภาพ ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใส่ผงชูรส ไขมันไม่มาก ดีต่อสุขภาพ ถึงแม้ลูกค้าจะเป็นกลุ่มเล็กแต่เป็นกลุ่มที่แน่นอน สินค้าของเราน่าจะขยับขึ้นมาเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้

ตอนนี้วางขายอยู่ตามสนามบินหาดใหญ่เป็นหลัก มียอดขายไม่ต่ำกว่า 30 โหลต่อเดือน และขายที่ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ภาคใต้ หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี โดยน้ำพริกที่ขายดีที่สุดคือ น้ำพริกไตปลาหอยนางรม กับแกงไตปลาแห้ง เราทำสูตรเฉพาะตัวของเราเองและมีรสชาติที่พอดี”

เบญจนาฏบอกว่า ปี 2560 มียอดรายได้รวมจากการขายน้ำพริกประมาณ 1 ล้านบาท เพราะไม่ได้ทำการผลิตทุกวัน เนื่องจากผลิตตามออร์เดอร์ คาดว่าปี 2561 จะพยายามให้ทะลุหลักล้าน เพราะจะมีการออกร้านเพิ่มขึ้น คนได้รู้จักมากขึ้น ลูกค้าที่เคยซื้อมักกลับมาซื้ออีก

เรียกได้ว่าจากรุ่นแม่มาถึงรุ่นลูก เบญจนาฏได้พัฒนาน้ำพริกของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสนธิวัฒน์เรื่อยมา กระทั่งในปี 2551 สินค้าได้ติดเป็นโอท็อป 5 ดาว และกลายมาเป็นสินค้า OTOP กลุ่มแม่บ้านเกษตรสนธิวัฒน์จนถึงปัจจุบัน