ชง ครม.สัญจรอีสานเหนือ ตั้งเขตเศรษฐกิจบึงกาฬ-หนองบัวลำภู

สัญจรอีสานเหนือ

การประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจร นัดแรกของรัฐบาลเศรษฐา วันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 ที่จังหวัดหนองบัวลำภู หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย หรือเรียกกันว่า “กลุ่มสบายดี” ได้ร่วมกันเตรียมนำเสนอโครงการต่าง ๆ

แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.โครงการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน 5 จังหวัดร่วมกันเสนอ ซึ่งจะได้รับการจัดสรรงบประมาณทันทีจังหวัดละ 100 ล้านบาท และโครงการที่แต่ละจังหวัดต้องการเสนอให้ผ่าน ครม.ไว้ก่อน ส่วนจะได้งบประมาณเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ค่อยตามผลักดันกันต่อไป

สบายดีพัฒนาชีวิต-ชูเขตเศรษฐกิจ

นายณัฐพล เหลือวงศ์ไพศาล ประธานกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในกลุ่มสบายดี 5 จังหวัด ได้ร่วมกันเตรียมนำเสนอโครงการ แบ่งออกเป็น 5 กรอบใหญ่

ประกอบด้วย 1.โครงการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข เช่น จัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวช จ.อุดรธานีและบึงกาฬ 2.โครงการด้านการเกษตร 3.โครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสบายดี

4.โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.บึงกาฬและหนองบัวลำภู 5.โครงการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคม เพื่อรองรับและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในกลุ่มสบายดี เช่น ศึกษาระบบโลจิสติกส์และวางแผนการพัฒนากลุ่มสบายดี สู่ NeEC และเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“อีสานตอนบนถือว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ด้านเกษตรต้องทำแหล่งกักเก็บน้ำ ตอนนี้ฝนตกน้ำท่วม หน้าแล้งขาดน้ำ ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ ต้องทำเกษตรมูลค่าสูง หากชาวบ้านมีรายได้ดี สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ด้านการท่องเที่ยว ต้องทำเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลมีงบประมาณมาสนับสนุนเรื่อง soft power ของจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 ให้มากขึ้น”

บึงกาฬชูสร้างอาชีพ-รายได้

นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดบึงกาฬได้เตรียมข้อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุน ประกอบด้วย 1.แก้ไขปัญหาความยากจน เช่น ศึกษาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกถ้ำพระ, พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทิวโขงงามภูทอกน้อย (sky walk) บ้านภูสวาท

2.การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น จัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์ฟื้นฟู บำบัดผู้ติดยาเสพติด 3.การแก้ไขปัญหาภาคเกษตร เช่น ศึกษา และออกแบบก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยผาคาง งบประมาณ 20 ล้านบาท,

4.โครงการด้านอื่น ๆ อาทิ วางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำไปยังจุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 งบประมาณ 50 ล้านบาท, โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยบึงกาฬ, โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงกาฬ

หนองคายดันการค้า-ท่องเที่ยว

นางสาวดวงใจ สุขเกษม รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม ครม.สัญจร 3 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย และหอการค้าจังหวัดหนองคาย ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อเตรียมนำเสนอแผนงานและปัญหาต่าง ๆ

ประกอบด้วย 1.จัดสร้างศูนย์ Business Center เพื่อรองรับการลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ 2.การเชื่อมต่อระบบขนส่งในจุดที่ขาดไประหว่างรอสร้างสะพานเชื่อมระบบรถไฟ 3.เร่งรัดพัฒนาสถานีนาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า 4.เร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัด

5.เร่งรัดสร้างสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ให้แล้วเสร็จ 6.เสนอจัดตั้งสถานกงสุลจีนที่ จ.หนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวจีน 7.ส่งเสริมพัฒนา จ.หนองคาย ให้รองรับการพัฒนาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

8.เร่งรัดเจรจาให้มีการใช้ระบบ National Single Window เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในและระหว่างประเทศ 9.เร่งรัดทำผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10.เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

11.ขอถอด จ.หนองคายออกจากพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ พ.ศ. 2561 เพื่อให้สามารถขอใบอนุญาตตั้งสถานบริการได้ 12.ขอจัดตั้งเขตเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขายในเขตท้องที่เทศบาลเมืองหนองคาย 13.ยกระดับมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยหนองคาย 14.เร่งรัดสร้างรถไฟทางคู่ให้เสร็จตามกำหนด 15.พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายให้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม

หนองบัวลำภูของบฯ 100 ล้าน

นายวิสูตร คำอินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางภาครัฐและภาคเอกชน จ.หนองบัวลำภูร่วมกันจัดทำแผนเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ด้านปัญหาความยากจน เช่น ขับเคลื่อนแพรพรรณลุ่มภูสู่การเป็นเมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมือง งบประมาณ 20 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างเครื่องเล่นโหนสลิง (Zipline) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

2.ด้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น ฝึกอบรมจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ชรบ. งบประมาณเกือบ 20 ล้านบาท 3.ด้านการเกษตร เช่น ทำฝายบ้านนาไร่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา งบประมาณ 30 ล้านบาท, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักปลอดภัย งบประมาณ 18 บาท

4.ด้านเศรษฐกิจ เช่น พัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมงตอนบน เช่น การบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูล นอกจากนี้ มีการพัฒนาส่งเสริมการลงทุน เช่น เร่งรัดการแก้ปัญหาผังเมือง, ก่อสร้างสะพานเพื่อการท่องเที่ยวหาดโนนยาว 5.ด้านสังคม และด้านสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์สุขภาพดี วิถีลุ่มภู

อุดรธานีชง 11 ถนนสายรอง

นายธนพล กองทรัพย์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดอุดรธานี ได้ระดมความคิดเห็นนำเสนอแผนต่อที่ประชุม ครม.สัญจร ประกอบด้วย 1.แก้ไขปัญหาความยากจน เช่น พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง, พัฒนาและยกระดับเกษตรกรในการผลิตและแปรรูปผลผลิต

2.ป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด เช่น พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่, จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลชุมชน 3.แก้ปัญหาภาคเกษตร เช่น กำจัดวัชพืชอ่างเก็บน้ำ, ขุดลอก 6 แห่ง

และ 4.ด้านอื่น ๆ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำฝายลำปาวบ้านท่าลี่, ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหนองหานทะเลบัวแดง อ.กุมภวาปี, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางหลวงหมายเลข 2239 บ้านต้อง-ศรีธาตุ ช่วง กม.0+000-53+273 งบประมาณ 800 ล้านบาท, สร้างถนนสายรอง 11 สายทาง งบประมาณ 124.88 ล้านบาท