3 “ท่าเรือบกอีสาน” รุกคืบอุดรฯเปิดนิคมเชื่อม “รถไฟจีน-ลาว”

ทางรถไฟ

กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องสำหรับ “ท่าเรือบก” โปรเจ็กต์ยักษ์ภาคอีสานที่จะเห็นความชัดเจนในปี 2567 โดยปักหมุดอยู่ใน 3 จังหวัดหัวเมืองใหญ่บนเส้นถนนมิตรภาพ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นแกนหลักยกระดับโลจิสติกส์ของภูมิภาค

อีสานยกระดับขนส่งสินค้า

“นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่าเรือบก (dry port) เป็นแนวความคิดเพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าของไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 3 จังหวัดที่เสนอทำการศึกษา ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา เบื้องต้นขอนแก่นและนครราชสีมายังอยู่ในระหว่างศึกษา

ขณะที่โครงการท่าเรือบกของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวม 400 กว่าไร่ ทำทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว ไม่ต้องเวนคืนหรือทำการสำรวจผลกระทบเพิ่มเติม พร้อมประกาศตัวเป็นศูนย์โลจิสติกส์ CY (container yard) และสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเข้าไปภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใช้วงเงินรวม 100 กว่าล้านบาท

“ตอนนี้อุดรธานีเตรียมพร้อมทั้งจุดตรวจพิธีการศุลกากร ศูนย์คัดกรองสินค้า เป็น one stop service เหลือเพียงนำเครื่องมือสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปติดตั้ง และต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้

และต้นปี 2567 จะเริ่มทดลองใช้งานจริง เพราะรถไฟจีน-ลาวมาแล้ว หากเราช้าหรือรอตามระบบราชการ เราจะเสียโอกาส รัฐบาลชุดนี้บอกว่ามีอะไรทำได้ให้ทำเลย จึงเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ”

“นายสวาท” บอกว่า หลายคนคาดหวังกับการขนส่งทางรางแต่ปัจจุบันการดำเนินงานยังไม่แล้วเสร็จ ฉะนั้นโครงการนี้ที่สามารถดำเนินการได้จะทำให้มูลค่าสินค้าเกษตรของเกษตรกรไทยเติบโตขึ้นทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเป็นแม่แบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ขับเคลื่อนไปได้ ตามขีดความสามารถของการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในจังหวัดอุดรธานีรัฐบาลแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลยเพราะส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชนที่เป็นนิคม

นิคมอุดรพร้อมเปิดลงทุน

นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธาน บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการ มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค

ทั้งระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบรักษาความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (OSS) เรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ ในการก่อสร้างและประกอบธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมทั้งเรื่องการขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ทั้งนี้ โรงงานสามารถเข้ามาประกอบกิจการได้ไม่ต่ำกว่า 80 โรงงาน คาดว่าจะมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 74,000 ล้านบาท จะทำให้เกิดการจ้างงานภายในนิคมไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย และเกิดการจ้างงานรอบ ๆ นิคมไม่ต่ำกว่า 60,000 ราย

“ด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม แล้วเสร็จ 90% ได้แก่ มีสถานีไฟฟ้าย่อย ขนาด 115 KV ภายในโครงการ พร้อมจ่ายกระแสไฟ โดยนิคมมอบพื้นที่ 12 ไร่ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย, มีบ่อหน่วงน้ำ 3 บ่อ ขนาด 1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรับน้ำฝนในพื้นที่

และเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ปัจจุบันมีน้ำเต็มทุกบ่อ, มีถนนสายประธานและสายย่อย ภายในโครงการขนาด 2-4 ช่องจราจร รวมความยาว 12 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ 10 กม., มีระบบผลิตน้ำประปา ขนาด 8,000 ลบ.ม./วัน, ระบบบำบัดน้ำเสีย 6,400 ลบ.ม./วัน, คลังสินค้าขนาดใหญ่ได้มาตรฐาน พื้นที่ 23,160 ตร.ม. พร้อมให้เช่า, มีลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ หรือ CY พื้นที่ 30 ไร่”

“ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการมา มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสนใจเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการมีธุรกิจประเภทแปรรูปอาหาร ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ รวม 5 ราย

ทั้งนี้ มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ให้ความสนใจเข้ามาตั้งโรงงานที่ใช้พื้นที่กว่า 50 ไร่ขึ้นไปหลายราย เช่น กลุ่มประกอบรถยนต์ EV รถมอเตอร์ไซค์ EV อุตสาหกรรมยางขั้นปลาย และกลุ่มที่สนใจประกอบกิจการในเขตปลอดอากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นต้น”

นางอรพินกล่าวต่อไปว่า ด้วยศักยภาพของที่ตั้งโครงการที่อยู่บนเส้นทางรถไฟทางคู่ และสามารถขนส่งไปเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจากจีน-ลาว จึงเหมาะในการเป็นศูนย์โลจิสติกส์ (logistics park) โดยตั้งเป้าเป็น “อีสานเกตเวย์” ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคอีสาน อีกทั้งภาครัฐได้เล็งเห็นถึงจุดเด่นและศักยภาพของทำเลที่ตั้งและความพร้อมของสถานที่

จึงเห็นชอบแนวทางในการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one stop service : OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและผ่านแดนแบบครบวงจรใน logistics park นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ตามแผนสามารถจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2566

ตอนนี้มีความพร้อมด้านสถานที่ 1.โรงพักสินค้า พื้นที่ 17,300 ตร.ม. พร้อมลานจอดรถบรรทุกเพื่อรอหน่วยงาน CIQ ทำการตรวจปล่อย 2.ลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) พร้อมบริการปลั๊กชาร์จตู้ refer และสถานีขนส่งสินค้า (truck terminal)

3.สำนักงานศุลกากรและสำนักงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าและรับรองมาตรฐานสินค้า (CIQ) 4.สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น จุดบริการอาหาร เครื่องดื่ม และห้องน้ำ สำหรับผู้ขับขี่รถบรรทุก ซึ่งอุดรธานีมีความพร้อมของระบบการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล โดยใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ โดยใช้ single window

แผนพัฒนาพื้นที่โครงการ logistics park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2564-2566 ให้บริการการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางบก และเชื่อมกับระบบขนส่งทางราง ณ สถานีหนองตะไก้ การให้บริการประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าให้เช่า จัดตั้งโรงพักสินค้า

พร้อมเปิดให้บริการ บริการรับฝากวางตู้คอนเทนเนอร์ (CY) บริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์จากสายเรือ บริการทำความสะอาดและซ่อมบำรุงตู้คอนเทนเนอร์ บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกมีลานจอดรถ ลานตาชั่ง และตู้ชาร์จ refer พร้อมจัดตั้งสำนักงานศุลากร และสำนักงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางอรพินกล่าวต่อไปว่า ส่วนระยะที่ 2 พ.ศ. 2566-2568 ให้บริการการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางบกและทางราง ซึ่งได้ยื่นขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร (free zone) และพร้อมเปิดให้บริการ พัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองตะไก้ เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบ freight forwarder เต็มรูปแบบ

ยื่น 4 ข้อให้รัฐสนับสนุน

นางอรพินกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทางนิคมอุตสาหกรรมได้ยื่นขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ 4 เรื่องหลัก เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ได้แก่ 1.การขอขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายให้ครอบคลุมพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

เพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมอุดรธานี ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย จะเป็นการจูงใจให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาประกอบกิจการในนิคมอุดรธานีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น

2.การส่งเสริม logistics park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เป็น one stop service (OSS) โดยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ BOI มาปฏิบัติงานที่ศูนย์ OSS ในนิคมอุดรธานี เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว (OSS) ถือเป็นการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและผ่านแดน

3.การจัดตั้งเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี (e-Commerce) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจบริการสำหรับผู้ประกอบการ e-Commerce

4.การประกาศเขตพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เป็น “เขตศุลกากร” เพื่อให้การทำพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าขาเข้า บรรจุของขาออก และเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจตรวจของผ่านแดนได้ ณ พื้นที่ logistics park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี