“น้องชามชวนแลก” นำร่องซื้อขยะ “ลดคาร์บอน” เมืองลำปาง

ปิยวดี ทวีกิจจินดา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ในการประกวดโครงการ TCC Business Spin Up 2023 ของหอการค้าไทย ภายใต้งานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ครบรอบ 90 ปี หอการค้าไทย รางวัล City project ได้แก่ โครงการ “น้องชามชวนแลก” จุดรับแลกขยะ เพื่อนำไปรีไซเคิล ลดปริมาณขยะในจังหวัด สร้างรายได้ในชุมชน จากจังหวัดลำปาง

“ปิยวดี ทวีกิจจินดา” ประธานโครงการ น้องชามชวนแลก ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนได้มีการพูดคุยกับสมาชิก YEC ในจังหวัดลำปาง ว่าจะทำโครงการอะไรดี ซึ่งในกลุ่ม YEC มีบริษัท บังอร รีไซเคิล ที่เขาอยากจะทำตู้รับแลกขยะอัตโนมัติ จึงได้มีการพูดคุยกันว่า จะทำโครงการน้องชามชวนแลก

โดยเปิดจุดรับแลกขยะรีไซเคิล โดยรับซื้อขยะทั้งหมด 7 ประเภท เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม กล่องนม หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก โดยมองว่า ถ้าสามารถคัดแยกขยะและนำไปรีไซเคิลจะทำให้ปริมาณขยะในจังหวัดลดลง และเงินส่วนต่างที่เหลือก็สามารถนำไปใช้พัฒนาด้านอื่น ๆ ได้

น้องชามชวนแลก

 

ปัจจุบันทางเทศบาลท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะค่อนข้างสูง เช่น เทศบาลนครลำปาง เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะรวม 29 ล้านบาท ปริมาณขยะ 450 ล้านตัน และถ้าหากนำขยะส่วนนี้ไปขายได้ตันละ 10 บาท ปีที่ผ่านจังหวัดลำปางมีเงินที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน 2,500 ล้านบาท

โดยปีแรกตั้งเป้าลดปริมาณขยะ 10% จากจำนวนทั้งหมด และปริมาณขยะที่ได้จากโครงการมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ด้วย ซึ่งเราก็ได้ความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจากแม่เมาะ ที่จะร่วมคำนวณคาร์บอนเครดิตให้ เราได้ตั้งเป้าว่า 1 ปี สามารถลดคาร์บอนได้ 5,000 กิโลตันหรือ 5 ล้านตัน

 

“หลายคนมีการคัดแยกอยู่แล้ว แต่เมื่อรถเทศบาลมาเก็บก็นำไปรวมกันอยู่ดี ทำให้เขารู้สึกเสียเวลาในการคัดแยก เราจึงอยากจะเปิดจุดรับแลกขยะ โดยขยะที่รับจะส่งต่อไปยังบังอรรีไซเคิล อีกทั้งขยะที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ อาทิ กล่องนม พลาสติก ก็นำมาแปรรูปเป็นบล็อกทางเดินถนน”

ตอนนี้เรามีจุดรับแลกทั้งหมด 20 จุด ทั่วจังหวัดลำปาง มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 35 ร้านค้า ในอนาคตคาดว่าจะมีร้านค้าที่สนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเรามีความแตกต่างจากร้านรับซื้อขยะทั่วไป ซึ่งปกติร้านรับซื้อทั่วไปจะรับซื้อขยะในจำนวนเยอะ ๆ ขั้นต่ำ 1 กิโลกรัม ในขณะที่โครงการของเรามีแค่ 1-2 ชิ้นก็สามารถแลกเป็นเงินหรือสะสมคะแนนได้ โดยคะแนนสะสม 2 แต้มเท่ากับ 1 บาท ถ้านำหลอดดูดหรือถุงพลาสติกมาแลกนำหนัก 2.5 ขีด จะได้คะแนน 1 แต้ม หรือขวดเบียร์ 3 ขวด น้ำหนัก 10 ขีด เท่ากับ 1 แต้ม

น้องชามชวนแลก

 

“ปกติร้านรับซื้อขยะจะไม่รับซื้อกล่องนม หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก แต่โครงการของเรารับเพราะมีปลายทางนำไปแปรรูปได้ การแยกขยะเชื่อว่าหลายคนอยากทำ แต่พื้นที่ต่าง ๆ ไม่มีถังให้คัดแยก แต่ของเราจะมีการเปิดจุดรับซื้อหรือจะนำไปขายกับร้านที่ร่วมโครงการก็ได้ ทำให้เขามีกิจกรรมร่วมกันกับเรา”

ปัจจุบันดำเนินโครงการมาได้ประมาณ 5-6 เดือนแล้ว หลังจากมีการประกวดโครงการและนำเสนอในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ที่ผ่านมา ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับบริษัทใหญ่ ๆ อาทิ CP กระทิงแดง ซึ่งก็จะมีการต่อยอดโครงการ เพราะเป้าหมายของเราคือขยายโครงการไปทั่วประเทศ เพราะโครงการที่เราทำสามารถเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่น ๆ สามาถนำไปทำได้

น้องชามชวนแลก

 

หลังจากโครงการครบ 1 ปี เราจะมีการประมวลผลจากจุดรับซื้อทั้ง 20 จุด เพื่อหาทุนของบในการทำตู้อัตโนมัติรับแลก 24 ชั่วโมง ราคา 1 ล้านบาทต่อตู้ เพราะปัจจุบันจุดรับซื้อยังต้องมีการนัดวันและเวลาในการที่รับแลก หากมีการประมวลผลแล้วจุดไหนมีคนนำขยะมาแลกเยอะ

และมีปริมาณขยะเยอะ จุดนั้นก็สมควรที่จะมีตู้อัตโนมัติ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ไว้ ว่าจะมีการเสนอโครงการของบประมาณ เพื่อซื้อตู้รับแลกอัตโนมัติรวมถึงของบประมาณเพื่อทำการอบรมนักจัดการขยะในท้องที่

น้องชามชวนแลก

 

ปัจจุบันคนในทีมมีทั้งหมด 9 คน ซึ่งเราต้องการขยายองค์ความรู้ให้กับชุมชน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการอบรมเพื่อให้แต่ละชุมชนมีการนัดจัดการขยะ ที่ผ่านมาเราได้มีการเปิดอบรมการคัดแยกขยะให้กับทางโรงเรียน ทั้งหมด 15 แห่ง ชุมชน 50 แห่ง และโรงแรม สถานประกอบการ 23 แห่ง

“โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนทุกคนไม่ลงมือทำ ไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน เราก็คิดว่าแม้จะเป็นแค่จุดเล็ก ๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเรา โดยเริ่มจากตัวเราเอง ขยะในมือเราเพียงแค่ 1 ชิ้น ถ้ามีการคัดแยกให้ถูกที่ ขยะเหล่านี้ก็จะถูกจัดการไป และเรายังจะมีเงินเก็บในการใช้ชีวิตประจำวันได้”