ค้าชายแดน “แม่สอด” วูบ 2 หมื่นล้าน ขนส่งสินค้าไปย่างกุ้งถูกรีดค่าคุ้มครองหนัก

ด่านแม่สอด

ค้าชายแดนแม่สอดวูบกว่า 2.2 หมื่นล้าน เหตุสู้รบ-รัฐบาลออกกฎคุมเข้มการค้า-เงินเฟ้อ ส่งผลรถขนส่งสินค้าไทยจากเมียวดีไปย่างกุ้งจ่ายค่าคุ้มครองเบี้ยบ้ายรายทางหนักมาก ไม่ว่าจะเลี่ยงขนส่งไปทางไหน

นายชนินทร์ ทรงเมฆ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา บริเวณด่านแม่สอด จ.ตาก ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมากว่า 20 วันมาแล้ว และไม่สามารถประเมินสถานการณ์ภายในของเมียนมาได้ว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานเพียงใด

ขณะที่ความต้องการสินค้าภายในประเทศเมียนมายังมีสูง โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าแช่แข็งที่ต้องส่งไปยังห้างสรรพสินค้าในเมืองย่างกุ้ง

ดังนั้น ต้องหาช่องทางขนส่งสินค้าไปทางด่านชายแดนด้านอื่น เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งมีความลำบากในการเดินทาง ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น

ชนินทร์ ทรงเมฆ
ชนินทร์ ทรงเมฆ

“ปีนี้เกิดปัญหาการสู้รบมาต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการส่งออกช่วง 11 เดือนปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) ได้เพียง 102,303.37 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วง 11 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 124,487.69 ล้านบาท เท่ากับลดลง 22,184.32 ล้านบาท หรือลดลง 17.82% ปีนี้คงได้ยอดส่งออกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา” นายชนินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการค้าชายแดนหลากหลายสินค้า ได้รับการยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า การขนส่งสินค้าจากเมียวดีไปย่างกุ้งตอนนี้ลำบากมาก ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางธรรมชาติในการขนส่ง บางเส้นทางต้องนำรถบรรทุกลงแพขนานยนต์เพื่อข้ามฝั่ง

แต่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเลือกขนส่งเส้นทางใด จะถูกเรียกเก็บเงินคุ้มครองค่าผ่านทางในลักษณะที่ถี่ขึ้น จากชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มมาก เทียบกับภาวะปกติจะถูกเรียกเก็บเงินค่าผ่านเฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อคัน ตอนนี้มีการเรียกเก็บหนักขึ้นในแต่ละเส้นทางไม่เท่ากัน

ขณะที่ชาวเมียนมาที่สั่งซื้อสินค้าไทยที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง ถูกรัฐบาลทหารออกกฎระเบียบที่เข้มงวดในการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า มีการควบคุมการนำเข้าสินค้าหลาย 10 รายการ เช่น ซีเมนต์ รวมถึงการจำกัดการนำเข้าสินค้าบางประเภท และที่สำคัญ ต้องมีเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวนเพียงพอในการจ่ายค่าสินค้า แสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และต้องเสียค่าธรรมเนียมจากกฎระเบียบใหม่ต่าง ๆ ที่ออกเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงมาก

“สถานการณ์ตอนนี้บอกไม่ได้จะจบเมื่อไหร่ การต่อสู้หนักขึ้น มีทั้งปิดถนน ระเบิดสะพาน การเข้าไปเสี่ยงภัยมาก นอกจากนี้ รัฐบาลทหารเองออกกฎระเบียบยุ่งยากมากขึ้น ดังนั้นหลายคนที่ขนส่งสินค้าเข้าไปเลี่ยงที่จะผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ซึ่งมีความยุ่งยากในข้อกฎระเบียบมาก

แต่จะเลือกวิ่งขนส่งผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณ อ.แม่สอดแทน เพราะเป็นเส้นทางตรงไปสู่เมืองย่างกุ้งใกล้ที่สุด ประมาณ 400 กม. แต่จะถูกเก็บเบี้ยบ้ายรายทางเยอะไปหมด ทำให้ต้นทุนการขนส่งพุ่งกระฉูด แต่ดีกว่าจะไปทางด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี และด่านแม่สาย จ.เชียงราย

เพราะ 2 เส้นทางนั้นถนนไม่สะดวก และถ้าจะวิ่งไปเมืองย่างกุ้ง เป็นการวิ่งอ้อมลงไปและต้องย้อนกลับขึ้นมา เช่น จะไปกรุงเทพฯต้องวิ่งย้อนไปประจวบคีรีขันธ์ก่อน แล้วค่อยวิ่งย้อนกลับขึ้นมา”

ล่าสุด มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิรวดีระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียเมืองในการยึดครองและฐานที่มั่นให้แก่กองทัพพันธมิตรสามภราดรภาพ (ฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกัน)เพิ่มมากขึ้น และมีทหารเสียชีวิตเกือบ 10 นายช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีข่าวว่ากองกำลังชาติพันธุ์สามารถโจมตีเป้าหมายในรัฐฉาน รัฐยะไข่ สะกาย มัณฑะเลย์ และมะกเว

ในขณะที่กองกำลังป้องกันของกลุ่มชาติพันธุ์ยังเดินหน้าโจมตีเป้าหมายที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลทหารทั่วประเทศ

ตาราง 20 สินค้า

5 สินค้า ฮิตส่งออก

ศูนย์ส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก สรุปภาวะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ปี 2566 มูลค่าการค้าช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) มีรวมทั้งสิ้น 102,303.37 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 22,184.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.82 (มกราคม -พฤศจิกายน 2565 มูลค่า 124,487.69 ล้านบาท)

แยกเป็นการส่งออกช่วง 11 เดือนของปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) ด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มูลค่า 89,218.23 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วง 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน) มูลค่า 98,883.17 ล้านบาท เท่ากับลดลง 9,664.94 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.77

สินค้าส่งออกสูงสุด 5 อันดับ คือ โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ น้ำมันดีเซล เม็ดพลาสติก น้ำมันปาล์ม โอลีนบริสุทธิ์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม

ขณะที่การนำเข้าช่วง 11 เดือนของปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) 13,085.14 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วง 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน) มูลค่า 25,604.52 ล้านบาท เท่ากับลดลง 12,519.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48.90

สินค้านำเข้าสูงสุด 5 อันดับที่ผ่านด่านศุลกากรแม่สอด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เศษอะลูมิเนียม พริกแห้ง พริกสด และแป้งข้าวเจ้า

ดุลการค้าช่วง 11 เดือนของปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) ได้ดุลการค้ามูลค่า 76,133.09 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 2,854.45 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.90 (ช่วง 11 เดือนของปี 2565 มูลค่า 73,278.64 ล้านบาท)

หากพิจารณาเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 8,793.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 114.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.32 (ตุลาคม 2566 มูลค่า 8,679.36 ล้านบาท) หากเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง 1,516.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.71 (พฤศจิกายน 2565 มูลค่า 10,309.75 ล้านบาท)

แยกเป็นการส่งออก มูลค่าการส่งออก 8,220.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 195.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.43 (ตุลาคม 2566 มูลค่า 8,025.20 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนลดลง 949.73 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.36 (พฤศจิกายน 2565 มูลค่า 9,169.99 ล้านบาท)

การส่งออก ณ ช่องทางอนุมัติของด่านศุลกากรแม่สอด เดือนพฤศจิกายน 2566 มีสินค้าส่งออกสูงสุด 10 อันดับ คือ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ผสม น้ำมันดีเซล เม็ดพลาสติก โทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์ น้ำมันเบนซิน นมถั่วเหลือง ผงปรุงรส ผ้าพิมพ์ฝ้าย 100% และโลชั่นบำรุงผิว

ส่วนการนำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่าการนำเข้า 573.38 ล้านบาท ลดลงจากเดือนตุลาคม 80.78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.35 (ตุลาคม 2566 มูลค่า 654.16 ล้าน)