ค้าชายแดนแม่สอดวูบ 30% รบกันหนัก-เงินเฟ้อทำสินค้าราคาพุ่ง

ด่านแม่สอด

ด่านแม่สอดเจอ 3 เด้ง สู้รบ-เงินเฟ้อ-น้ำท่วม ทำยอดการค้าชายแดน-ผ่านแดน วูบ 20-30% ส่งผลรถขนส่งสินค้าไทยจากเมียวดีชะงักไปส่งของที่ย่างกุ้งไม่ได้ ล่าสุดสินค้านำเข้าอย่างข้าวโพด ต้องเลี่ยงใช้เส้นทางมาเข้าที่ด่านแม่สาย จ.เชียงรายแทน ด้านหอการค้าเตรียมประชุมสัญจรพร้อมผลักดันภาครัฐเจรจา 3 ฝ่าย ไทย-อินเดีย-พม่า สงบศึก หวังเชื่อมต่อการค้าชายแดนไทย-อินเดีย

นายชนินทร์ ทรงเมฆ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา บริเวณด่านแม่สอด จ.ตาก ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ประกอบไปด้วย 1) การสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับทหารเมียนมาบริเวณตรงข้าม ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ขณะที่รถขนส่งสินค้าจากไทยส่วนใหญ่จะต้องผ่านไปยังรัฐกะเหรี่ยง เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังเมืองย่างกุ้ง

2) เงินเฟ้อเมียนมาพุ่งสูงขึ้น 1-2 เท่าตัว จากปกติค่าเงิน 1 บาทเท่ากับ 40 จ๊าต แต่ปัจจุบัน 1 บาทเท่ากับ 90 จ๊าต ส่งผลต่อการค้าชายแดน ประชาชนชาวเมียนมาที่ข้ามมาซื้อสินค้าที่ด่านแม่สอดลดน้อยลง เพราะต้นทุนสินค้ามีราคาสูงขึ้น รวมถึงเรื่องค่าขนส่งอีกด้วย

3) เกิดน้ำท่วมในตลาดเมียวดีทำให้สะพานขาด ดังนั้นการติดต่อค้าขายจึงต้องดูสภาพอากาศวันต่อวัน เพราะฝนตกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์แล้ว คาดว่าปลายสัปดาห์ปริมาณฝนตกน่าจะลดลง ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยหลักส่งผลให้ยอดการค้าชายแดนและผ่านแดน 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2566) ลดลง 20-30% จากปกติที่ด่านแม่สอดจะมีสินค้า 2 ส่วน ได้แก่ 1.ค้าข้ามแดน (สินค้าผ่านทาง) มีมูลค่าประมาณ 200,000 กว่าล้านบาทต่อปี และ 2) การค้าชายแดน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี

ชนินทร์ ทรงเมฆ
ชนินทร์ ทรงเมฆ

ขณะเดียวกัน ตามปกติด่านแม่สอดจะมีการนำเข้าข้าวโพดหรือพืชไร่จากฝั่งเมียนมาเข้ามา เพราะเป็นเส้นทางสะดวกที่สุด แต่ตอนนี้การนำเข้าลดลง ทราบมาว่า เริ่มมีการเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าไปที่ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ถึงแม้เส้นทางจะลำบากกว่า แต่ไม่มีความเสี่ยงในด้านการสู้รบ และคาดว่าสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะเริ่มทยอยนำเข้าผ่านทางด่านแม่สายเช่นกัน

“หลังจากที่มีการสู้รบในบริเวณเมืองเมียวดี การขนส่งก็หยุดชะงักชั่วคราว หลังจากนั้นก็ออกไปสู้รบกันนอกเมือง ทำให้มีปัญหาการขนส่งที่เดินทางกันลำบาก ช่วงเดือนที่ผ่านมีการระเบิดสะพาน 1 สะพาน ถึงแม้สินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ได้รับความเสียหาย เพียงแต่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ยอดส่งออกสินค้าทางด่านแม่สอดลดลงไปแล้ว โดยปีที่ผ่าน ๆ มาการสู้รบในเมียนมาจะมีช่วงหน้าแล้งกับหน้าหนาว ส่วนช่วงหน้าฝนการสู้รบจะลดลง เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

แต่ปีนี้เข้าสู่ช่วงหน้าฝนแล้วก็ยังมีการรบกันอยู่ ประชาชนที่อยู่ฝั่งอำเภอแม่สอดยังได้ยินเสียงระเบิด ซึ่งการสู้รบจะอยู่ในบริเวณตะเข็บชายแดนตั้งแต่ อ.แม่สอด จ.ตากไปจนถึง จ.แม่ฮ่องสอน สถานการณ์ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจา หากหาข้อสรุปได้เร็วก็คิดว่าสถานการณ์ก็จะกลับมาปกติ เพราะเมียนมาก็ยังมีความต้องการสินค้าอยู่ เพียงแต่เราไม่สามารถขนส่งเข้าไปให้ได้เท่านั้น” นายชนินทร์กล่าว

โดยระหว่างวันที่ 17-18 ส.ค.นี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะนำทีมคณะกรรมการมาจัดประชุมสัญจรที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทางหอการค้า จ.ตาก จะมีการผลักดันผ่านทางหอการค้าไทยไปยังภาครัฐให้มีการเจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อไม่ให้การสู้รบส่งผลกระทบต่อการค้าขาย โดยจะเสนอให้มีการดึงประเทศอินเดียเข้ามาร่วมประชุมด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมาทางรัฐบาลอินเดีย มีโครงการจะสร้างถนนเชื่อมจากอินเดียมาถึง อ.แม่สอด และเท่าที่ทราบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางรัฐมนตรีอินเดียได้มาหารือกับรัฐมนตรีประเทศเมียนมา เรื่องการสู้รบในเมียนมากระทบกับแผนที่จะทำถนนเชื่อมต่อมาที่ด่านแม่สอด จึงคิดว่าไทยควรดึงอินเดียเข้ามาช่วยกันเจรจา เพื่อเชื่อมโยงการค้าไทย-อินเดีย-เมียนมาในอนาคตด้วย

ด้านนายเฉลิมวัฒน์ ตรีรัตน์วัฒนา รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า นอกจากปัญหาการสู้รบในเมียวดีแล้ว ทางรัฐบาลเมียนมาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายราคาสินค้าโดยให้โอนเงินระหว่างประเทศผ่านธนาคาร ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกให้ช้าลง ปกติลูกค้าเมียนมาจะนำ “เงินสด” มาจ่ายค่าสินค้าต่าง ๆ ที่ประเทศไทย และทางบริษัทฝั่งไทยก็จะดำเนินการส่งออกสินค้าไปให้

“ตอนนี้ลูกค้าต้องจ่ายเงินค่าสินค้าที่ฝั่งเมียนมาและโอนเงินข้ามประเทศมาเข้าบัญชีธนาคาร แต่ก่อนโอนชำระเงินมีขั้นตอนให้ระบุว่า จะซื้อสินค้าอะไร อัตราแลกเปลี่ยนเท่าไหร่ ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 3-5 วัน ถึงจะสามารถส่งออกสินค้าไปที่เมียนมาได้ และต้องมีการทำลายเซ็นขออนุญาตนำเข้าฝั่งเมียนมา ที่เป็นอย่างนี้เชื่อว่า เมียนมาอยากควบคุมไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าเยอะ และการสั่งซื้อตอนนี้ลดน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สินค้าแพงขึ้น” นายเฉลิมวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลรายงานด่านศุลกากรแม่สอดพบว่า ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 มีมูลค่าการส่งออก 59,448.962 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 63,268.726 ล้านบาท หรือลดลง 3,819.764 ล้านบาท

ส่วนการนำเข้าช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 มีมูลค่าการนำเข้า 10,399.858 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้า 20,783.269 ล้านบาท หรือลดลง 10,383.411 ล้านบาท