ฝุ่นพิษถล่มปีมังกร 2 หมื่นล้าน “นายก” ถกเพื่อนบ้านกู้วิกฤต

ฝุ่นพิษ

รับมือฝุ่นปีมังกร ทุบเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้าน “เศรษฐา” นำทีมปฏิบัติการ แก้ PM 2.5 ยกหูนายกฯกัมพูชา “ฮุน มาเนต” ผนึกกำลังลดจุดความร้อนเตรียมตั้ง คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา ต่อยอดยุทธศาสตร์ฟ้าใส ตั้งเป้าหมายลดพื้นที่เผาไหม้ 50% จากปี 2566 เซฟรายได้ท่องเที่ยวล้านนา-รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน ดันกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสภาสัปดาห์หน้าฉลุย เปิดแผนผู้ว่าฯ 3 จังหวัด “เชียงใหม่-เชียงราย-น่าน” ขีดเส้น “วันงดเผา” แก้ฝุ่น

ฤดูฝุ่นกลับมาเยือนไทยอีกครั้งหนึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นำคณะลงพื้นที่ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5 บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2567 ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ไล่เรียงสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมกำชับให้เพิ่มแนวทางแก้ไขเพื่อลด Hot Spot ให้ได้ จากการลดพื้นที่เผาไหม้ลงให้ได้ 50% จากปี 2566

ผนึกกัมพูชาแก้ฝุ่นข้ามชายแดน

หลังจากรับรายงานจาก ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ (GISTDA) ถึงป่าจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา นายกรัฐมนตรีได้มีการโทรศัพท์ถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อประสานความร่วมมือ ก่อนที่จะเดินทางมาเยือนไทยในวันที่ 7 ก.พ. 2567

“เมื่อคืนวันที่ 11 มกราคม ผมโทรศัพท์ตอน 4 ทุ่มกว่า คุยกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และตั้งคณะทำงานกันขึ้นมาร่วมกัน 2 ประเทศ และฮอตไลน์คุยกันได้ตลอด เพราะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองก็ตระหนักในปัญหานี้ ซึ่งปัญหาของเราก็ขึ้นกับทิศทางลมด้วย ถ้าเราเผาอาจไปทางเขา เขาเผาอาจมาทางเรา อันนี้ต้องเป็นความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ ก็ดีใจที่ผู้นำของกัมพูชาได้ให้ความสำคัญและพูดคุยกัน” นายเศรษฐากล่าว

สำหรับคณะทำงานดังกล่าว จะมี GISTDA เป็นจุดศูนย์กลางในการวัดค่าฮอตสปอตและรายงานเบาะแสพื้นที่ที่มีจุดความร้อน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน 3 ประเทศ ไทย สปป.ลาว เมียนมา ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

Advertisment

เซฟเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้าน

“จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ มีนักท่องเที่ยวมีศักยภาพสูงจำนวนมาก เป็นจุดศูนย์กลางของล้านนา หากเราสามารถทำให้เจริญเติบโตได้ จังหวัดรอบ ๆ จะเกิดความแข็งแกร่งขึ้น แต่เป้าหมายไม่ใช่แค่ส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังต้องรักษาสิทธิพื้นฐานของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เรื่องอากาศสะอาดและพระราชบัญญัติอากาศสะอาดได้เข้าสภาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่จบ เข้าใจว่ามีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่อาทิตย์หน้าก็น่าจะจบได้” นายกฯกล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี 10,000-20,000 ล้านบาท จากเรื่องต้นทุนในการรักษา 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนผลกระทบการท่องเที่ยว มองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2567 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย 35 ล้านคน เพราะผลกระทบจากฝุ่นต่อการท่องเที่ยวเป็นเฉพาะบางช่วงและบางพื้นที่เท่านั้น พื้นที่ทางภาคเหนือที่เจอปัญหาฝุ่น PM 2.5

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นแนวทางสำคัญที่ทั่วโลกผลักดัน เพื่อให้เศรษฐกิจเป็นสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นกลไกที่ต้องให้เกิดขึ้นไม่ว่าช้าหรือเร็ว

อัพเดตมาตรการรัฐแก้ฝุ่น

ล่าสุดข้อมูล GISTDA ระบุว่า จุดความร้อน ช่วงเวลา 1-11 ม.ค. 2567 มีจำนวน 686 จุด ลดลง 5.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 729 จุด โดยปรับลดลงทุกประเภทพื้นที่ แยกเป็นเขต สปภ. 151 จุด จากปีก่อน 120 จุด ชุมชนและอื่น ๆ 64 จุด จากปีก่อน 43 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 154 จุด จากปีก่อน 204 จุด ป่าอนุรักษ์ 26 จุด จากปีก่อน 47 จุด พื้นที่เกษตร 284 จุด จากปีก่อน 307 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด จากปีก่อน 8 จุด

Advertisment

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมดำเนินการแนวทางสกัดไฟป่า ปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) 400 วอร์รูมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหา PM 2.5 สูงสุด 9.87 ล้านไร่ จากปัญหาการเผาไหม้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี 2566 รวม 12.78 ล้านไร่

“ในปีนี้มีเป้าหมายจะลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 50 จากปี 2566 ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 73 ล้านไร่ พร้อมทั้งจัดชุดเฝ้าระวังไฟป่า 17 จังหวัด อีก 2,500 จุด มีเจ้าหน้าที่พร้อมดับไฟป่าตลอด 24 ชม. โดยจ้างราษฎรในพื้นที่ 5,260 คน เงินเดือนเดือนละ 9,000 บาท เพื่อช่วยดูแลพื้นที่เสี่ยงไฟป่า”

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 จากทาง สอน. ทางตรงคือการขอความร่วมมือจากชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อยเพื่อส่งอ้อยสดเข้าหีบ โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% เพื่อซื้อเครื่องจักรช่วยตัดอ้อย นับจากปี 2559 ขณะนี้เข้าสู่เฟส 3 (2565-2567) วงเงิน 6,000 ล้านบาท ตลอดกว่า 6 ปี มีอ้อยไฟไหม้ลดลงจาก 80% เหลือ 25% พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี 120 บาทต่อตัน 3.การที่โรงงานรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ที่ตัดอ้อยสด 800-1,200 บาทต่อตัน

4.สิทธิประโยชน์การขอสินเชื่อ ด้วยการลดดอกเบี้ยให้กับโรงงานน้ำตาลที่ใช้ไบโอแมส หรือใช้ชานอ้อยในการนำไปผลิตไฟฟ้า หรือเป็นการลงทุนด้านชีวมวล เพราะถือว่าเป็นการช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม 5.ลดภาษีนำเข้ารถตัดอ้อยเหลือ 0% เป็นระยะเวลา 2 ปี (สิ้นสุด ธ.ค. 2567) 5.การหักเงินจากชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในอัตรา 30 บาท เพื่อชดเชยให้กับชาวไร่ที่ส่งอ้อยสดเข้าหีบ และล่าสุด มาตรการที่ 6 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน คือการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.20 บาท จาก 2.70 บาท จากโรงงานน้ำตาลที่รับซื้อใบอ้อยและที่ใช้ใบอ้อยมาเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า

เปิดแผนผู้ว่าฯ 3 จว.แก้ฝุ่น

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ออกประกาศให้วันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน 2567 เป็นห้วงเวลาควบคุมการเผาหรือการใช้ไฟในพื้นที่โล่งทุกชนิด แต่หากจำเป็นต้องเผาต้องขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชั่น FireD เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิง 1,124 จุด พื้นที่ 140,569 ไร่ ศูนย์บัญชาการอำเภอจะพิจารณาอีกครั้งว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเผาจริงหรือไม่

พร้อมกันนี้ได้สั่งการไปยังนายอำเภอ 25 อำเภอขอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบถึงความจำเป็นต้องเผา หากไม่จำเป็นต้องเผาขอให้ทำความเข้าใจและเสนอแนวทางจัดการแบบอื่นแทน อาทิ การไถกลบ หรือการขนเศษวัสดุทางการเกษตรไปแปรรูป พร้อมกันนี้ได้กำชับเทศบาลทุกแห่งจัดหารถเก็บขยะให้เพียงพอและทั่วถึงต่อความต้องการ เพื่อลดสาเหตุการเผาในเขตเมือง ซึ่งเป็นการ “เดินเข้าหาไฟ” เปลี่ยนพื้นที่เผาไหม้เป็นพื้นที่ปลอดการเผา ที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับจากชาวบ้านหลายอำเภอ สามารถลดจำนวนพื้นที่เผาไหม้ได้จำนวนมาก

ขณะที่นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เชียงรายได้เตรียม 3 แผนรับมือสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในปี 2567 อย่างเข้มข้น 1.เน้นมาตรการการสื่อสารเชิงรุก เน้นการลงลึกระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มมีการเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูต่อไป จึงได้ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทนการเผา

2.มาตรการเชิงป้องกันในการดูแลสุขภาพประชาชนเข้มข้น ได้จัดทำแผนภาวะฉุกเฉิน ห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาล ห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดทำฐานข้อมูลเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง-ผู้ป่วยติดเตียงกว่า 3 แสนราย การจัดเตรียมคลินิกมลพิษ การบริการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ซึ่งขณะนี้มีห้องปลอดฝุ่นกว่า 100 แห่ง และ 3.มาตรการยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มสูงขึ้นหรือเกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมบูรณาการยกระดับปฏิบัติการ และเริ่มมีการตั้งด่านในจุดสำคัญในพื้นที่เขตป่าสงวนฯและป่าอนุรักษ์ ห้ามเข้าออกในพื้นที่ เพื่อป้องกันผู้ลักลอบเผา

น่านปรับแผนฝุ่น

ส่วนนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านเตรียมแผนรับมือฝุ่นที่แตกต่างจากปี 2566 โดยโฟกัสพื้นที่หลักที่เกิดไฟคือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าอุทยานฯ โดยจัดระเบียบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1.8 ล้านไร่ และป่าอุทยานฯ 1.3 ล้านไร่ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เข้าไปทำการเกษตรทั้ง 2 พื้นที่นี้ เพื่อบริการจัดการเชื้อเพลิงพื้นที่เสี่ยง ลดความรุนแรงของไฟป่า พร้อมกำหนดมาตรการระยะเวลาห้ามเผาเด็ดขาดระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-30 เม.ย. 2567 ซึ่งเป็นช่วงการเตรียมพร้อมการเพาะปลูก และหลังจากพ้นระยะการห้ามเผาเด็ดขาด จะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น หากพบว่ามีการลักลอบเผา เกษตรกรจะถูกตัดสิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ มุ่งเน้นมาตรการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทุกช่องทาง โดยเฉพาะสปอตวิทยุสถานีวิทยุในจังหวัด พร้อมทั้งจัดชุด กอ.รมน.ลงพื้นที่ทุกอำเภอ “เคาะประตูบ้าน” รณรงค์ให้ความรู้การบริหารจัดการเชื้อเพลิง สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จะตรึงพื้นที่จุดสกัดจุดเฝ้าระวัง ชุดสายตรวจลาดตระเวน เพื่อ
ป้องกันไว้ก่อน ทั้งนี้ มั่นใจว่าการปรับกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในปีนี้จะแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่โล่ง พื้นที่ป่าเกษตรกรรมของจังหวัดน่านได้ 50% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้