“ชาวสวนยาง” เล็งยื่นหนังสือนายก จี้ “แก้ปัญหายางผ่านแดนเพื่อนบ้านไหลเข้าไทย”

ชาวสวนยาง

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศเตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาลแก้ปัญหา “ยางผ่านแดน” จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูก ไหลเข้าสู่ประเทศไทยเกลื่อน จี้รัฐบาลออกมาตรฐานกำกับการขนส่งผ่านแดนให้เข้มงวด

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคายางพาราของประเทศเพื่อนบ้านล้วนมีราคาต่ำกว่ายางพาราของไทย ส่งผลให้ยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก

ดังนั้น ทางเครือข่ายยางอยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมจะยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับปัญหา “ยางผ่านแดนระหว่างประเทศ” จากประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ระบบการขนส่งสินค้าผ่านแดนควรจะต้องมีการวางมาตรการดำเนินการที่เข้มงวดในการขนส่งยางพาราผ่านเข้ามาในประเทศไทย

“ประเทศไทยเปิดให้มีการขนส่งยางพาราผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้านกันมานาน แต่มียางพาราบางส่วนไหลเข้าประเทศไทย โดยไม่ได้ผ่านแดนออกไปประเทศที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมาชาวสวนยางไม่มีการตื่นตัว เพราะรัฐบาลมีการประกันราคาให้ เมื่อยางราคาตกต่ำกว่า 60 บาท/กก. โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้ จึงไม่ได้รับผลกระทบ” นายประยูรสิทธิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า การที่เครือข่ายจะยื่นหนังสือขอคัดค้านการขนส่งยางพาราผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน จะยึดตามแนวทางและข้อเสนอของจังหวัดน่าน โดยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จ.น่าน ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.น่าน ได้เข้าร่วมตรวจสอบการขนยางพาราจากสปป.ลาว ผ่านชายแดนจุดผ่อนปรนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

มีการตรวจสอบรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ 20 คัน ที่สำนักงานด่านศุลกากร อ.ทุ่งช้างซึ่งบรรทุกยางแท่งตู้คอนเทนเนอร์ละ 31,000 กก. รวมน้ำหนักประมาณ 620,000 กก. แจ้งขอขนส่งผ่านไทยไปลงเรือที่ จ.ระยอง เพื่อส่งต่อไปปลายทางประเทศจีน

โดยตัวแทนคณะกรรมการเครือข่ายที่ได้เข้าร่วมตรวจสอบกับจ.น่าน มีข้อสังเกตหลายประการ ได้แก่ 1.มาตรการกระบวนการตรวจสอบสินค้าในช่องผ่านแดน มีความหละหลวมไม่สามารถเปิดตรวจสอบสินค้าภายในตู้ได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือ

และอัตราเจ้าหน้าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสินค้าที่ผ่านแดนเข้ามา มีช่องโหว่หลายประการที่อาจจะเป็นโอกาสให้ขนสินค้าที่ผิดกฎหมายผ่านประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดีการตรวจสอบดังกล่าวก็ไม่สามารถสกัดกั้นการนำเข้าได้

2. การขนส่งสินค้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศจีน มีหลายช่องทางและมีระยะทางใกล้กว่าการขนส่งผ่านไทยไปประเทศจีน และปัจจุบันประเทศจีนได้พัฒนาเส้นทางขนส่งทะลุมาถึงสปป.ลาว ทั้งเส้นทางถนนและทางราง พัฒนาไปถึงรถไฟความเร็วสูง จึงมีข้อสังเกตุว่าทำไมถึงมาขนส่งผ่านแดนที่ประเทศไทย

กรณีที่ผู้รับผิดชอบอธิบายว่าการขนส่งยางผ่านไทย ต้นทุนถูก และสะดวกกว่า แสดงว่า สปป.ลาว มีการเก็บค่าผ่านทางที่สูงมาก ขณะที่ไทยเก็บถูกกว่า เท่ากับไทยไม่ได้คิดอัตราค่าผ่านทางที่สมควรตามที่ต่างประเทศจัดเก็บหรือไม่

3.ปัจจุบันท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย เป็นท่าเรือพาณิชย์ ขนส่งสินค้าทางเรือกับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ และมีด่านสำนักงานตรวจสอบสินค้าที่เป็นมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบได้ เหตุใดจึงไม่ขนผ่านช่องทางท่าเรือที่ได้มาตรฐาน

4.ปริมาณยางพาราที่ขนส่งผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดค้ายาง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับตลาดยางพาราของไทย

5.ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกยางพาราในไทย จะต้องเสียค่าธรรมเนียมส่งออกยางออกนอกราชอาณาจักร (เซสส์) แต่ไม่ทราบว่าการนำส่งสินค้าผ่านแดนเป็นการเลี่ยงการจ่ายเซสส์หรือไม่ ถ้าเป็นการเลี่ยง สวนยางไทยเสียเปรียบการค้าและไทยเสียผลประโยชน์ เครือข่ายตลาดยางพารา จ.น่าน และชาวสวนจึงคัดค้านการขนยางพาราผ่านจุดผ่อนปรนห้วยโก๋น

และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี,รมว.พาณิชย์ ,รมว.เกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขกฎหมายหรือข้อตกลงอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้เอื้อหรือเปิดช่องให้ดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไป