เปิดเส้นทาง Food Tourism @ตราด

เพื่อขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนด “เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน” (gastronomy tourism) ไว้ 10 เส้นทางกระจายไปทั่วภูมิภาค เมื่อวันที่ 13-15 พฤษภาคมนี้

นายคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ได้นำคณะผู้สื่อข่าวตระเวนชิมอาหารถิ่นในตำนาน และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดตราด

นายคมกริช กล่าวว่า จังหวัดตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองรอง 1 ใน 55 จังหวัด ที่รัฐบาลมีเป้าหมายใช้การท่องเที่ยวเชิงอาหารถิ่นในตำนานเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบนฝั่ง เพื่อลิ้มลองอาหารถิ่นเรียนรู้และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

“ปี 2560 จังหวัดตราดมีผู้เยี่ยมเยือน 2,756,421 คน เป็นชาวไทย 1,721,540 คน ชาวต่างชาติ 1,034,881 คน มีรายได้ 24,384 ล้านบาท จากชาวไทย 10,709.51 ล้านบาท ชาวต่างชาติ 13,674.49 ล้านบาทจังหวัดตราดมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้บริการ 21 แห่ง แต่ละชุมชนมีอาหารถิ่นในตำนาน ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น บางเมนูเป็นอันซีน เช่น ที่ชุมชนบ้านท่าระแนะ หมู่ 2 ต.หนองคันทรง อ.เมือง จ.ตราด

“สายชล สุเนตร” ผู้ใหญ่หมู่ 2 และประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนท่าระแนะ ได้นำคณะลงเรือประมงพื้นบ้านลัดเลาะไปตามคลองที่สมบูรณ์ด้วยป่าโกงกาง ป่าลำพู ป่าจาก ระยะทาง 2 กิโลเมตร ถึงจุดแวะพักลานตะบูนพื้นที่ขนาด 8-9 ไร่ แต่ละต้นอายุร่วม 200 ปี รากตะบูนแผ่เต็มพื้นดินสามารถเดินนวดเท้าบนรากตะบูนโดยไม่ต้องสัมผัสพื้นดิน ลานตะบูนร่มรื่น

ป่าชายเลนแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองคันทรง 6,000 ไร่ แต่อยู่ในพื้นที่หมู่ 2 เนื้อที่ 2,000 ไร่ เป็นแหล่งอยู่อาศัยสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น ปูดำ ปูแสม กั้ง หอยพอก และเห็นวิถีชีวิตชาวประมงวางลอบดักปู หาปลา กลุ่มท่องเที่ยวจึงได้คิดกิจกรรมปลูกหอยปล่อยพันธุ์ปู ให้นักท่องเที่ยวได้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หอยพอกและปูดำด้วย

จากนั้นกลับมาดูสาธิตการทำอาหารถิ่นในตำนาน กับอาหารว่างของขบเคี้ยว “ใบโกงกางชุบแป้งทอด” และขนมโบราณพิมข้าวตอกที่ยังใช้พิมพ์ลายไม้โบราณ ดื่มชิล ๆ

“ชาร้อยรู อยู่ได้ 100 ปี” รสชาติเข้ากันอย่างลงตัว และไม่ลืมที่จะรอชิม “แกงคั่วหอยพอกใบชะพลู” อาหารคาวที่ทำเสร็จหลังสุดกับข้าวสวยร้อน ๆ ได้รสชาติความหนึบ ความหวานจากเนื้อหอยพอกสด ๆ กับกะทิที่คั้นเอง หวานมันกลมกล่อมไม่เลี่ยนเพราะมีใบชะพลูและรสชาติไม่จัดจ้านนัก ฝีมือแม่ครัวเอกเลขากลุ่ม “ละมุน เพ่งจินดา” ที่แกงด้วยสูตรโบราณ จึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอาหารท้องถิ่นที่มาจากป่าชายเลนไม่หมือนใครจนได้สมญานามว่า “มหัศจรรย์ป่าชายเลน”

จากนั้นไปชมชุมชนรักษ์คลองบางพระ ในตัวเมืองตราด ซึ่งได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยวจาก ททท. นำเสนออาหารท้องถิ่น “ข้าวเกรียบปากหม้อน้ำจิ้มปู” เป็นอาหารว่าง ความอร่อยของเส้นก๋วยเตี๋ยวที่อ่อนนุ่มห่อไส้หน่อไม้ไผ่ตงที่มีรสหวานผัดกับเนื้อปู ก้ามปู และน้ำจิ้มใส่ปูปรุงรสด้วย “ส้มมะปื๊ด” ทานคู่กับแตงกวาดอง (อาจาด) รสชาติที่เข้ากันและ “ขนมจ้างโบราณ” ทำมาจากข้าวเหนียวผสมน้ำด่างรับประทานจิ้มกับน้ำตาลอ้อย และ “ขนมบันดุ๊ก” ที่คล้ายขนมเปียกปูน ใช้แป้งข้าวเจ้ากวนใส่ใบเตยมีสีเขียวนวล ทานคู่กับน้ำเชื่อม น้ำกะทิโรยด้วยถั่งลิสงตำหยาบ ๆ ได้รสชาติหวาน มัน เค็ม

นอกจากนี้ ที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว มี “ข้าวเกรียบยาหน้า” เป็นข้าวเกรียบย่างทานคู่กับไส้ที่ปรุงจากมะพร้าวและกุ้งเป็นอาหารของชาวมุสลิม ที่ชุมชนบ้านช้างทูน มี “แกงไก่ใส่กล้วยพระ” ที่ใช้แกนของลำต้นกล้วยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กล้วยพระ” มาแกงกะทิใส่ไก่บ้านคล้ายแกงสายบัวทานคู่กับข้าวเหนียวมูน ทำให้อาหารมีรสหวาน เค็ม เผ็ดมากขึ้น และ “วุ้นหมาน้อยในน้ำเชื่อม” ที่ทำจากใบหมาน้อยซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย นำมาปั่นกับน้ำแยกกากทิ้งจะเป็นวุ้นสีเขียวเข้ม รสขมเล็กน้อยแต่ชุ่มคอ ทานคู่กับน้ำเชื่อม น้ำแข็งช่วยคลายร้อน ใบจะช่วยบำรุงโลหิตให้ไหลเวียนอย่างดี เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวไทยเชื้อสายชองที่บ้านช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการปรุง “อาหารถิ่นในตำนาน” ตำรับสูตรโบราณ ไม่ใช่มีดีที่ความอร่อยเท่านั้น แต่ได้ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรมของท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ เชื่อว่าหากมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับอาหารถิ่นในตำนานให้นักท่องเที่ยว โดยทริปการมาท่องเที่ยวจังหวัดตราดตามเกาะต่าง ๆ เพิ่มจำนวนวันพักบนฝั่ง ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงแหล่งชุมชนสัมผัสเมนูอาหารถิ่นในตำนาน จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเสน่ห์ของอาหารท้องถิ่นในตำนาน…ถ้าไม่มาเยือนถึงถิ่น…จะไม่ได้ลิ้มลอง