แก้ “ลำไย” ล้นตลาด ชูผลิตคุณภาพ-แปรรูปสู่สากล

หลังจากที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม ที่มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมากถึง 62% ของจำนวนผลผลิตทั้งหมดในฤดูกาล วันนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ปัจจุบันหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน ทั้งเกษตรกร ชุมนุมสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน บริษัทแปรรูปลำไย และหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาการผลิตลำไยให้ได้คุณภาพ การหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ รวมถึงการนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พาสื่อมวลชนติดตาม “ลักษณ์ วจนานวัช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ “การบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ” ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลว่า สถานการณ์ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่ มีผลผลิตในฤดูกาลออกสู่ตลาดกว่า 381,498 ตัน หรือประมาณ 60% และนอกฤดูกาล 381,498 ตัน ประมาณ 40% รวมทั้งปี 2561 มีผลผลิต 654,329 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากที่จังหวัดลำพูน

โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่เห็นชัดเจน คือ เกษตรกรมีการพัฒนาการผลิต ด้วยการตัดแต่งช่อและการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 53 แปลง เพื่อให้ได้ลำไยที่มีคุณภาพ ทำให้ขณะนี้มีลำไยเกรด AA สูงขึ้นถึง 60% เกรด A 40% รวมถึงการส่งเสริมให้ทำลำไยนอกฤดูมากขึ้น

ด้าน “ภูษิต ขจรวานิชไพบูลย์” รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการลำไย ปีการผลิต 2561 ทั้งหมด 99,744 สัญญา รวมเงินทั้งหมด 11,720 ล้านบาท มีลูกค้า 755,709 คน ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมกรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท รองรับปริมาณลำไยสดได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 มีการประชุมสัมมนาผู้ประกอบการลำไย โดยมีผู้สนใจขอสินเชื่อ 537 ราย เงินสินเชื่อ 696 ล้านบาท

ขณะที่ “จำเนียร แสนราชา” เกษตรจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบปี 2558-2560 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความพยายามปรับสัดส่วนลำไยนอกฤดูกาลมากขึ้น จาก 15%, 15% และ 26% ตามลำดับ เป็น 32% ในปี 2561 และคาดว่าปี 2562 จะมีผลผลิตลำไยนอกฤดูมากขึ้นตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ที่ 40% ขณะเดียวกันจังหวัดลำพูนมีเตาอบลำไยมากที่สุดในภาคเหนือ ทำให้มีสัดส่วนการแปรรูปมากถึง 66% และการบริโภคสด 33%

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาช่วยกระจายผลผลิตผ่านผู้ประกอบการทุกช่องทาง โดยกระจายไปทั้งหมด 850 อำเภอทั่วประเทศ อำเภอละ 5 ตัน รวมทั้งหมด 4,200 ตัน และสนับสนุนค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 2 บาท ทั้งหมด 200 ตัน อีกทั้งมีการกระจายผ่านโมเดิร์นเทรด 2,000 ตัน ส่งผ่านไปรษณีย์อีก 1,500 ตัน การบริโภคสดทั่วประเทศ 40 ตัน และส่งออก 35,000 ตัน ผ่านล้งทั้งหมด 32 ล้ง สำหรับด้านการแปรรูป 65,000 ตัน ซึ่งมีล้งทั้งหมด 70 ล้ง ที่สำคัญล่าสุด “บริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด” ผู้ผลิตน้ำลำไยเข้มข้น จ.ลำพูน ที่คาดการณ์ว่าจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรถึง 10,000 ตัน ส่วนราคาค่อนข้างคงที่ เป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร

“มาลี เปรมมณี” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรประตูป่า อ.เมืองลำพูน บอกว่า สหกรณ์เป็นผู้รวบรวมผลผลิตเป็นลำไยช่อมัดจุก ปัจจุบันมีสมาชิก 514 คน พื้นที่ปลูก 2,400 ไร่ ปี 2561 เริ่มรวบรวมลำไยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561 ได้ 420 ตันกว่า จ่ายเงินให้สมาชิกแล้วกว่า 10 ล้านบาท โดยผลผลิตทั้งหมดส่งจำหน่ายภายในประเทศ ทั้งเทสโก้ โลตัส, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เดอะมอลล์ และไปรษณีย์ ขณะนี้สามารถรวบรวมได้ 5-10 ตัน/วัน แต่ช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตพีกจะรวบรวมได้ 30 ตัน/วัน ซึ่งสหกรณ์รับซื้อแพงกว่าข้างนอก 2-3 บาท/กก.

ฟาก “ปิยะพร สมพงศ์” สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมร่อง อ.เมืองลำพูน ผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง แบรนด์สวัสดีและริมเดอรอง บอกว่า ทางกลุ่มได้เสริมให้เกษตรกรพัฒนาลำไยคุณภาพด้วยการทำแปลงใหญ่และตัดแต่งช่อ ยกระดับสู่ลำไย GI และเกรด AA ซึ่งได้มีการตกลงกับ 2 กลุ่ม ได้แก่ ลำไยแปลงใหญ่ อ.แม่ทา และ อ.ทุ่งหัวช้าง ซึ่งจะรับซื้อทั้งหมด 35 ตัน ในราคา 35 บาท/กก. สูงกว่าท้องตลาด 11 บาท/กก. รวมถึงร่วมกับคิง เพาเวอร์ พัฒนาฮีโร่โปรดักต์ โดยเฉพาะการพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง ที่จะทำให้มูลค่าสูงขึ้นกว่า 50% ทั้งนี้นับเป็นสินค้าชุมชนที่สามารถก้าวไปสู่ตลาดสากลด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ล่าสุดบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด อ.ป่าซาง ผู้ผลิตน้ำลำไยเข้มข้น ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรับซื้อผลผลิตลำไยภาคเหนือของปีนี้ โดย “บงการ จินดาจำนงศ์” ผู้จัดการโรงงาน กล่าวว่า บริษัทได้ผลิตลำไยเข้มข้นออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ P80 เฟสแรกกำลังการผลิต 90 ตัน/วัน และเฟส 2 คาดว่าแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561 มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 120 ตัน/วัน รวมเป็น 210 ตัน/วัน ซึ่งในปี 2561 ตั้งเป้ารับซื้อลำไยสดรูดร่วง 7,000-10,000 ตัน/ปี และปี 2562 ตั้งเป้ารับซื้อ 27,000 ตัน/ปี โดยกลุ่มเป้าหมายในการรับซื้อคือ เกษตรกรผู้ปลูกลำไย เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ในพื้นที่ ส่งจำหน่ายโมเดิร์นเทรด ได้แก่ บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ และบู๊ทส์