ชงบิ๊กโปรเจ็กต์10จว. 2แสนล้าน ครม.สัญจรชุมพร ปูฐานเสียงภาคใต้

แฟ้มภาพ

10 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย ชง ครม.สัญจรชุมพร 5 ด้านหลักกว่า 2 แสนล้านบาท เสนอเร่งรัด 10 โครงข่ายพื้นฐาน ต่อยอดยางพารา-ปาล์มน้ำมัน สู่เมืองอุตสาหกรรมชีวภาพ มุ่งหน้าสู่โอเลโอเคมิคอลจากปาล์มน้ำมัน

นายภูวดิท ปรีชานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ สภาหอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะนำคณะเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จังหวัดชุมพร ล่าสุด ภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สุราษฎร์ธานี) ได้จัดประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมเสนอโครงการด้านต่าง ๆ

แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง 

โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย โครงการแลนด์บริดจ์อ่าวไทย ชุมพร-ระนอง โครงการลงทุนระบบถนน ระบบราง และท่าเรือน้ำลึก ทั้งฝั่งชุมพรและระนองให้สมบูรณ์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงผลักดันให้มีการศึกษาโครงการมอเตอร์เวย์ถึงสุไหงโก-ลก เพื่อเชื่อมต่อมาเลเซีย จากเดิมภาครัฐมีโครงการศึกษาถึงเพียงจังหวัดชุมพร

นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภาอุตฯได้สรุปโครงการสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1.ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตยางพาราและปาล์ม ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยพยายามชูภาคใต้ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล จากปาล์มน้ำมัน เบื้องต้นจะนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และ 2.ขอสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตน้ำมันปาล์มหรือยางพารา

ชง 5 ด้านบูมลงทุน-การค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ได้ข้อสรุปเสนอ ครม.สัญจร 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐาน 10 โครงการย่อย ได้แก่ 1) เร่งรัดสร้างถนนเชื่อมด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่กับมาเลเซีย 2) เร่งรัดพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 1 (ต่ออายุสัมปทาน) 3) เร่งรัดสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สอง  4) เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ภายในปี 2562

5) เร่งรัดขยายถนนทุ่งหว้า-ตรังเป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงหมายเลข 404 ตอนย่านตาขาว-ปะเหลียน และหมายเลข 416 ตอนปะเหลียน-ทุ่งหว้า-ละงู 6) เร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้โครงการสะพานสตูล-ปะลิส (สะพานอันดามันไทย-มาเลเซีย) 7) เร่งรัดขยายสนามบินจังหวัดตรัง 8) ศึกษาศักยภาพการขนส่งและท่องเที่ยวทางน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งระบบ 9) ศึกษาการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ภาคใต้ ชุมพร-สุไหงโก-ลก 10) เร่งรัดท่าเรือน้ำลึกชุมพร ท่าเรือน้ำลึกระนองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจแลนด์บริดจ์อ่าวไทย-อันดามัน

2.ด้านการค้า การลงทุน และค้าชายแดน เสนอ 2 ประเด็น คือ 1) พัฒนายกระดับยางพาราและปาล์ม กลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันและอ่าวไทย (bioeconomic) มีการผลักดันแผนดำเนินการระบบชีวมวล จากเศษไม้ยางพาราและปาล์ม เพื่อลดต้นทุนของเสียนำมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม รองรับความยั่งยืนพลังงาน รวมถึงโครงการศึกษาพัฒนาเพื่อการแข่งขัน เช่น พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีแบบครบวงจร (ปาล์ม), ศึกษา พัฒนา และออกแบบนวัตกรรมไม้ยางพาราแบบครบวงจร, โครงการแพะแปลงใหญ่ 2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ที่ยั่งยืน

ดัน 6 โปรเจ็กต์พัฒนาท่องเที่ยว

3.ด้านเกษตรและอาหาร มุ่งเน้นขับเคลื่อนโครงการแพะแปลงใหญ่ตามแนวประชารัฐ จ.กระบี่ เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน โดยขอรับการสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์แพะขุน การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้านการแปรรูป โรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน GMP และมาตรฐานอาหารฮาลาล และส่งเสริมการตลาดในประเทศและส่งออก 4.ด้านการบริหารจัดการน้ำ เดินหน้าขุดลอกในลุ่มน้ำชุมพร ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ลุ่มน้ำปากพนัง และลุ่มน้ำสาขาพุควนเค็ง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลดผลกระทบด้านอุทกภัย สนับสนุนการเกษตร การท่องเที่ยว และการอุปโภคบริโภค รวมถึงขุดลอกอ่าวบ้านดอนให้มีความลึกมาตรฐานเพื่อขนส่งสินค้า

และ 5.ด้านการท่องเที่ยว ผลักดัน 6 โครงการ คือ 1) เร่งรัดพัฒนาเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายไทยแลนด์ริเวียร่าอย่างสมบูรณ์ 2) ศึกษาและพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่เพื่อการค้าและการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน 3) ยกระดับโครงการคลองท่อมเมืองสปา ไปสู่เมืองสุขภาพและการกีฬาระดับโลก 4) รูปแบบการบริหารจัดการอุทยานธรณีโลก จ.สตูล 5) ศึกษาและดำเนินโครงการ Andaman Go Green และ 6) พัฒนาเส้นทางราชกรูด-หลังสวน เป็น 2 เลนมาตรฐาน พร้อมไหล่ทาง

อนึ่ง ที่ผ่านมารัฐบาลเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ต่อเนื่องจากแผนลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (ไทยแลนด์ริเวียร่า) โดยมีโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (SEA) โฟกัส 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี โดยมีแผนจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกท่าเรือระนอง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก (ไทยแลนด์ริเวียร่า) เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองรองรวมมูลค่า 220,511 ล้านบาท