สมาคมยางใตัเสนอรัฐ เดินหน้ายุทธศาสตร์สวนยาง ดันราคาเกิน 60 บาทต่อกก.

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวแทนสมาคมฯ และสภาเครือข่ายฯ จะขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อยื่นหนังสือพร้อมข้อเสนอการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เพื่อให้ใช้หลายมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตราคายางตกต่ำให้เกินจุดคุ้มทุนที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยมีเป้าหมายพื้นที่สวนยางยั่งยืน 7.8 ล้านไร่ภายใน 7 ปี หรือประมาณ 30% ของสวนยางทั้งประเทศ แบ่งเป็นสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 5 ล้านไร่ และสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ 2.8 ล้านไร่

“สำหรับระยะแรกภายในปี 2561 ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน ต่อมาระยะกลางปี 2562-2563 ให้รัฐบาลทำโครงการนำร่องสวนยางยั่งยืนในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้อีก 5 ล้านไร่ และเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 3 แสนครัวเรือนให้เสร็จเป็นรูปธรรม ส่วนระยะยาว 7 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2568 ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อการปลูกแทนแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม 10,000 บาทต่อไร่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทำสวนยางยั่งยืน จากเดิมได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทนจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไร่ละ 16,000 บาท มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรลดการทำสวนยางเชิงเดี่ยวปีละ 4 แสนไร่ ระยะเวลา 7 ปี รวม 2.8 ล้านไร่” นายสุนทรกล่าว

นายสุนทรกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลรับข้อเสนอเพื่อปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด ภายใน 2 ปี จะมีสวนยางยั่งยืนของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 5 ล้านไร่ เป็นการแก้ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย 3 แสนครัวเรือน และประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าไม้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่ นอกจากนั้นผลผลิตยางของไทยหรือซับพลายยางจะลดลง 5 แสนตันต่อปี จะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำเพื่อไปถึงเป้าหมายให้พ้นจุดคุ้มทุนที่ 60 บาทต่อกก. โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว แลกกับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

“สำหรับการใช้งบประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปี ของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ เปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นการทำสวนยางยั่งยืน จำนวน 2.8 ล้านไร่ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยที่ต้นเหตุ และจะได้ผลดีกว่านโยบายการแทรกแซงราคายางและการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต เนื่องจากมีข้อสรุปแล้วว่านโยบายดังกล่าวล้มเหลวและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน” นายสุนทรกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์