พ่อเมืองเชียงรายดึง นทท.สายบุญ เปิดงานนมัสการพระธาตุดอยตุงปี’62

วันนี้ (19 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดศาลาเชิงดอย อ.แม่สาย จ.เชียงราย พระรัตนมุนี รักษาการเจ้าคณะ จ.เชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆารวาส เปิดงาน “ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง 2001 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง ประจำปี พ.ศ.2562” เพื่อเปิดให้ประชาชนโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้เดินขึ้นสู่ดอยตุง นมัสการพระธาตุดอยตุงตามรอยจาริกแสวงบุญของครูศรีวิชัยซึ่งเป็นนักบุญแห่งล้านนาในอดีต

โดยพิธีมีการทำบุญในช่วงเช้าและผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ตัดริบบิ้นเพื่อให้มวลชนกว่า 2,000 คน ได้ทะยอยเดินสู่เส้นทางลัดเลาะภูเขาสู่ยอดเขาอันเป็นสถานที่ตั้งของพรธาตุดอยตุงระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และมีพิธีมงคลบริเวณลานข้างพระธาตุตลอดวันที่ 19-20 มี.ค.นี้

นายประจญ เปิดเผยว่า สำหรับการจัดงานในปีนี้นั้นมีการสืบชะตาหลวงล้านนาให้กับผู้ที่ร่วมงานทุกคนบริเวณลานข้างพระธาตุดอยตุง กิจกรรมรวมพลคนปีกุนและทุกราศี เพราะดอยตุงเป็นพระธาตุปีกุนและปี 2562 ก็ตรงกับปีกุนด้วย พิธีตักและสมโภชน้ำทิพย์และสวดเบิก พิธีเจริญพระพุทธมนต์ อบรมสมโภช ทำบุญตักบาตร บวงสรวงพระธาตุดอยตุง มีขบวนแห่เครื่องสักการะและอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรและน้ำทิพย์ ขบวนแห่ตุง 12 ราศี 20 วา ขบวนแห่รัตนสัตตนัง พิธีสรงน้ำพระราชทานและห่มผ้ารอบองค์พระธาตุ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมมากมาย

ทั้งนี้ ทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ของทุกปีจะมีการจัดพิธีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุสำหรับปีนี้ถือว่าครบปีที่ 2,001 แล้วและยังตรงกับคืนวันเพ็ญซึ่งเป็นวันพุธหรือเป็งปุ๊ดทางภาคเหนือด้วย จึงได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินจากขัวศิลปะเชียงราย ได้ออกแบบเหรียญที่ได้รับการตรวจแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย จัดเตรียมเหรียญที่ระลึกมอบให้ทุกคนที่เดินจาริกแสวงบุญจำนวน 3,000 เหรียญด้วยเชื่อว่าจะกลายเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนเชียงราย เพื่อร่วมทำบุญและจาริกแสวงบุญร่วมกันเป็นประจำทุกปีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับพระธาตุดอยตุงเป็นประธาตุคู่ที่ตั้งอยู่บนยอดดอยตุง โดยมีตำนานว่าพระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระอรหันต์ครั้นพุทธกาลได้นำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งอาณาจักรโยนกนาคพันธ์จึงมีการเสี่ยงทายด้วยการนำตุงยาว 7,000 วาไปปักเอาไว้บนดอยเพื่อหาจุดสร้างพระธาตุ ต่อมาอีก 100 ปีมีพระมหาวชิรโพธิเถระอรหันต์อีกรูปนำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้ามังรายณะกษัตริ์ที่ครองราชสืบต่อกันมาอีก ทำให้มีการสร้างเป็นประธาตุคู่แฝด ต่อมาในปี 2470 ครูบาศรีวิชัยได้นำประชาชนบูรณะจึงเกิดเป็นประเพณีจนถึงปัจจุบัน