ผู้เลี้ยงโคจี้รัฐระบุข้างกล่อง “นมสด-นมผง”

สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ 98 ฟาร์ม วอนรัฐ “ตีตราสัญลักษณ์” แยกประเภทวัตถุดิบที่ใช้ผลิต “นมกล่อง” ให้ชัดเจน ทำจาก “นมสด” หรือ “นมผง” รับมือเปิดเสรี FTA นมและผลิตภัณฑ์ เหตุต้นทุนนมผงต่ำกว่านมสดมาก ส่งผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขนาดกลาง-ขนาดเล็กเดี้ยง พร้อมแนะรัฐสร้าง “ตลาดท้องถิ่น” นักเรียนพื้นที่ใดควรดื่มนมสดจากฟาร์มท้องถิ่นจังหวัดนั้น สร้างเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น

นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช รองประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสหกรณ์ได้วางแผนรองรับการเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม

ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ และความเปลี่ยนแปลงของโลกไว้แล้วหลายโครงการ ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นอยากเสนอทางภาครัฐให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยฟาร์มโคนมขนาดเล็ก ออกมาตรการหรือตราสัญลักษ์เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่า นมกล่องที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด ใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากนมสด หรือนมผงชัดเจน

เพราะการใช้นมผงผลิตต้นทุนจะถูกกว่า จึงสามารถขายได้ในราคาต่ำ แต่หากใช้นมสดต้นทุนสูง ราคาขายจะแพงกว่า จุดนี้คือผลกระทบต่อฟาร์มขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งผลิตโดยใช้นมโคสดแท้

“ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รู้ว่านมที่วางขายในตลาดผลิตจากนมสดหรือนมผง เพราะมีบางรายใช้นมผง ต้นทุนจะถูกกว่าการใช้นมสดมาก และฟาร์มต่างชาติเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ แต่หากภาครัฐมีการออกมาตรการ หรือตราสัญลักษณ์ว่า นมกล่องนี้ทำมาจากนมสดหรือนมผงชัดเจน ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้เลี้ยงโคนม และเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค” นายณัฐวุฒิกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ควรสร้างตลาดให้กับท้องถิ่น อาทิ เด็กนักเรียนมหาสารคามก็ควรได้ดื่มนมสดจากฟาร์มท้องถิ่น จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น ราคานมสดก็ไม่ตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี่ยงโคนมจะมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ภาครัฐหากทำอย่างจริงจังสามารถทำได้ เพราะปริมาณน้ำนมดิบทั่วประเทศมีประมาณวันละ 3 พันตัน

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า ล่าสุดทางสหกรณ์ได้มีการเปิดศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ TMR แบบ feed center พร้อมลงนาม MOU ระหว่างสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแผนการตลาดน้ำนมดิบ และฐานข้อมูลประชากรโคนมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 98 ครอบครัว มีโคนมจำนวน 3,500 ตัว สามารถผลิตน้ำนมดิบได้ปริมาณ 22,000 กิโลกรัม/วัน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2535 ถึงวันนี้ได้มีการพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงโคนมให้กับสมาชิก 98 ฟาร์ม มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้น้ำนมโคที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน

มีช่องทางการจัดจำหน่าย โดยทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ส่งขายให้กับทางดัชมิลล์ ประมาณวันละ 8 ตันเศษ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประมาณปีละ 300 ตันเศษ รวมถึงขายเป็นนมโรงเรียนประมาณ 5 หมื่นกล่องต่อวัน นอกจากนั้น ผลิตเป็นนมพาสเจอไรซ์ ไอศกรีม พุดดิ้ง ส่งร้านขายในท้องถิ่น ส่วนช่วงปิดภาคเรียนนำนมดิบส่วนหนึ่งไปส่งให้ทางโรงงานผลิตเป็นนมยูเอชที ทำให้สามารถประคับประคองตัวผ่านไปได้

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทางสหกรณ์ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการผลิตน้ำนมโคให้ได้คุณภาพ อาทิ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เข้ามาดูแลให้ความรู้การเลี้ยงโคนมด้านอาหารโค ดูอัตราการเติบโตของโค โรคโค ธนาคารโคนม เป็นต้น รวมถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาจัดทำแอปพลิเคชั่นข้อมูลประวัติโค

การบริหารจัดการแผนการตลาดน้ำนมดิบล่วงหน้า และฐานข้อมูลประชากรโคนมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะสามารถประเมินผลผลิตน้ำนมดิบรวมได้ ทำให้สหกรณ์ไม่มีปัญหานมล้นตลาด

ที่ผ่านมาทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นเงินทุนในการดำเนินงาน ผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัด จากงบประมาณยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

(เพิ่มเติม) จำนวน 4,875,000.00 บาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ เครื่องผสมอาหาร เครื่องสับบดอาหารหยาบขนาดชุดกลาง รถไถขนาด 90 แรงม้า 1 คัน พร้อมอุปกรณ์เครื่องตัดหญ้าแบบดับเบิลช็อป และเทรลเลอร์ 1 ชุด และได้รับการสนับสนุนเงินกู้เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการดำเนินโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตน้ำนมดิบแบบยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์มุ่งเน้นยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ฟาร์มขนาดเล็กให้มีมาตรฐานสากลตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ หากฟาร์มใดผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเลี้ยงโคนมขั้นต้น (Good Farming Management-GFM) ทางสหกรณ์จะบวกราคาน้ำนมดิบที่ผลิตได้เพิ่มให้อีก 5 สตางค์/กก. หากฟาร์มใดผ่านเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (Good Agricultural Practice-GAP) ทางสหกรณ์จะบวกราคาน้ำนมดิบที่ผลิตได้เพิ่มให้อีก 20 สตางค์/กก. และหากฟาร์มใดผ่านเกณฑ์มาตรฐานฟาร์มปลอดโรค สหกรณ์จะบวกราคาน้ำนมดิบที่ผลิตได้เพิ่มให้อีก 25 สตางค์/กก.

“เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้การเลี้ยงโคนมได้มาตรฐานแบบครบวงจร รวมทั้งศูนย์รับน้ำนมและโรงงานก็ผ่านการรับรองมาตรฐานหมดแล้ว”