หนองคายหนุนเลี้ยงแพะ ส่งออกราคาพุ่ง 130 บ./กก.

แฟ้มภาพมติชน

ปศุสัตว์หนองคาย เร่งส่งเสริมเกษตรกร อ.ศรีเชียงใหม่เลี้ยงแพะให้ได้มาตรฐาน GFM ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ที่นิยมบริโภค ความต้องการเพียบ ส่งผลราคาหน้าฟาร์มพุ่งกว่า 130 บาทต่อ กก.

นายศักดิ์สิทธิ์ ทิพยธร ปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดทั้งภายในประเทศไทยและ สปป.ลาว ซึ่งมีพื้นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ กำลังนิยมบริโภคเนื้อแพะ และมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาแพะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยล่าสุดราคาแพะที่หน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 110-130 บาท/กิโลกรัม (ชั่งทั้งตัว) เกษตรกรที่เลี้ยงแพะสามารถคำนวณรายได้จากการขายแพะที่เลี้ยงได้อย่างชัดเจน แพะจะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 5-6 เดือนก็จะได้ขนาดและน้ำหนัก 20-25 กก. ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด

“การเลี้ยงแพะถือเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัดไม่สามารถเลี้ยงโคและกระบือที่ต้องใช้พื้นที่มากได้ ประกอบกับขณะนี้ความต้องการเนื้อแพะทั้งในพื้นที่และในประเทศ สปป.ลาว ดังนั้น เกษตรกรสามารถเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักได้ เพราะแพะสามารถให้ลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2-4 ตัว”

นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ทางปศุสัตว์กำลังเร่งยกระดับการจัดฟาร์มแพะของเกษตรกรรายย่อยให้ได้การรับรองมาตรฐานเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (good farming management หรือ GFM) จะสามารถขายแพะไปได้ทั่วประเทศ และสามารถส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้

“แพะเป็นสัตว์ที่หาอาหารกินง่าย ไม่ต้องมีการจัดการฟาร์มที่มีขนาดใหญ่เหมือนโคและกระบือ โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารนั้น แพะสามารถช่วยกำจัดวัชพืชให้กับเกษตรกรได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องโรคแท้งติดต่อ ที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีการเจาะเลือดและส่งตรวจอยู่เป็นประจำทุก 6 เดือน ซึ่งหากฟาร์มใดได้รับการรับรองเป็นฟาร์มมาตรฐานแล้ว จะสามารถขายแพะเข้าสู่ในระบบตลาดได้” นายศักดิ์สิทธิ์

ทั้งนี้ในส่วนของการเลี้ยงเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาราชภัฏอุดรธานี ในการทำวิจัยการพัฒนาการผลิตแพะเนื้อ

เพื่อการส่งออก แพะที่จะส่งออกได้จะต้องเป็นแพะจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานและต้องได้รับการรับรองเรื่องฟาร์มปลอดโรค ซึ่งอำเภอศรีเชียงใหม่มีกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มและยกระดับการผลิตจนได้รับการรับรองฟาร์มมาตรฐานของแพะแล้วจำนวน 1 ฟาร์ม ส่วนฟาร์มอื่น ๆ ตอนนี้ได้เร่งให้มีการยกระดับเป็นฟาร์มมาตรฐาน GFM และยกระดับเป็นฟาร์มปลอดโรค เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำแพะไปขออนุญาตเพื่อจะได้เคลื่อนย้ายแพะไปขายต่างประเทศที่มีความนิยมบริโภค ถือเป็นอีกหนึ่งทิศทางที่จะมีการยกระดับการผลิตให้ตอบโจทย์ในเรื่องของการตลาด

“ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ มีเกษตรกรที่เลี้ยงแพะประมาณ 30-40 ราย มีแพะประมาณ 900-1,000 กว่าตัว แต่ต้องยอมรับว่าแพะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนเร็ว ทั้งในกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเดิมและกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ที่เริ่มเห็นทิศทางการตลาด และเห็นว่าการจัดการฟาร์มแพะไม่ยุ่งยากเหมือนการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากวัชพืชมาเป็นอาหารแพะ การจัดการพันธุ์ที่จะนำมาเลี้ยงก็ไม่สูง ผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงสามารถเลือกเลี้ยงแพะลูกผสมพื้นเมืองได้ จึงทำให้การลงทุนในการจัดการฟาร์มไม่สูง แต่ผลตอบแทนสูงเป็นที่พอใจ ทำให้คุ้มทุนได้เร็ว” นายศักดิ์สิทธิ์กล่าว