“วิยะดา ซวง” นายกหญิงแกร่ง ชูธงท่องเที่ยวตราด One Market One Destination

สัมภาษณ์

“ตราด” จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองและเมืองต้องห้าม…พลาด สุดชายแดนตะวันออกประตูสู่เพื่อนบ้านกัมพูชา เวียดนาม ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 2,166,176 คน เพิ่มขึ้น 3.7%จากปี 2560 มีรายได้ 19,126 ล้านบาท เพิ่ม 9.3% “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “วิยะดา ซวง” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด หญิงแกร่งผู้อยู่เบื้องหลังดีลสำคัญ เชื่อมความสัมพันธ์ระดับประเทศระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

สามารถใช้ภาษากัมพูชาอย่างเชี่ยวชาญ กล่าวถึงภารกิจของสมาคมที่ดำเนินงานมาในรอบปี ภายใต้กรอบความคิดการพัฒนาท่องเที่ยวควบคู่กับการค้า เชื่อมโยงไทยกับเพื่อนบ้าน กัมพูชา เวียดนาม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้ของ จ.ตราด

Q : ผลงานภูมิใจที่ผ่านมา

ย้อนไป 4 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เปิดเส้นทางท่องเที่ยว UNSEEN ทางรถยนต์วันเดียวเที่ยว 3 ประเทศ ถนน R10 (Southern Coastal Corridor Road) เชื่อมจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ผ่านเกาะกง สีหนุวิลล์ กาเมา (กัมพูชา) ไปสิ้นสุดที่กาเมา เวียดนาม ปี 2558 จ.ตราดได้ทำข้อตกลงร่วมกัน 8 จังหวัด ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม สำรวจเส้นทางบกสาย R10 และจัดขบวนคาราวานภายใต้แคมเปญวันเดียวเที่ยว 3 ประเทศให้นักธุรกิจไทย-กัมพูชา-เวียดนามได้พบปะกัน ผลตอบรับดี มีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกัน และปี 2561 ทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมกันสำรวจเส้นทางเรือคลองใหญ่ สีหนุวิลล์ กัมปอต ฮาเตียน ฟูโกว๊ก เกียนยาง เพื่อเตรียมเปิดเส้นทางเดินเรือ และปลายปี 2563 สนามบินนานาชาติเกาะกง ภายในโครงการดารา ซากอร์ (Dara Sakor Seashore Resort) อยู่ห่างจากชายแดนไทย 150 กม. จะเปิดบริการโครงข่ายเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวทางอากาศ เป็นโอกาสของ จ.ตราด ต้องเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ เพื่อยกระดับและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว

หลังจับมือร่วมกัน 3 ประเทศภายใต้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในตลาดภูมิภาคอาเซียน เพื่อยกระดับสู่ตลาดโลก กลุ่มเอเย่นต์จะทำตลาดโดยชูประเด็น One Market One Destination หรือหนึ่งตลาด หนึ่งจุดหมายปลายทาง ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชน 3 ประเทศมีความเห็นตรง คือ ทำตลาดทั้ง 3 ประเทศให้เป็นตลาดเดียว โดยแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์เอกลักษณ์เฉพาะตัว และควรทำควบคู่กับการค้า เพราะสินค้าไทยเป็นที่นิยม

วันนี้มีการโปรโมตขายแพ็กเกจ มีนักท่องเที่ยวหลายคณะจากกัมพูชา เวียดนามเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ตราด ทั้งท่องเที่ยวทะเล และทัวร์สวนผลไม้ ค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 4,000-5,000 บาท ยังไม่รวมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค หรือช่วงงานบุญสมุทร มีชาวกัมพูชา 30,000 คน เข้ามาชายแดนไทย เฉลี่ยค่าใช้จ่ายคนละ 3,000 บาท นอกจากนี้ มีชาวต่างชาติ เช่น ออสเตรเลีย เดินทางมาด้วยเรือครุยส์ แวะท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ และเดินทางเข้ากัมพูชา เวียดนาม ไทยต่างจากเมื่อก่อนมาจากสิงคโปร์ เข้าสมุย พัทยา ตราด เข้ากัมพูชา เวียดนาม และการเดินเรือส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้า แต่ใช้เพื่อการท่องเที่ยวเพียง 2%

Q : ดัน “ทมอดา-เนิน 400” เชื่อมการค้า

ทุกวันนี้ จ.ตราด มีจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านหาดเล็ก ชายแดนติดต่อกับ จ.เกาะกง เพียงแห่งเดียว ขณะที่อีก 2 ช่องทาง คือ 1) จุดผ่อนปรนทางธรรมชาติที่บ้านทมอดา ติดต่อกับ จ.โพธิสัตว์ ห่างกันเพียง 180 กม. เชื่อมต่อกับพนมเปญ 191 กม. และ 2) จุดผ่านแดนที่บ้านมะม่วง เนิน 400 อ.บ่อไร่ ติดกับบ้านสำรูด อ.เวียลเวง จ.พระตะบอง ห่างกันเพียง 90 กม. สามารถเชื่อมต่อไปพนมเปญ ระยะทาง 390 กม. ชาวกัมพูชาจาก จ.โพธิสัตว์ และพระตะบอง เดินทางมา จ.ตราดได้ใกล้สุด จึงต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ซื้อสินค้าอุปโภค และยังเป็นเมืองใหม่ชายแดนที่มีการลงทุนของชาวจีนหลายหมื่นคน กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา ชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูง ต้องการเข้ามาเที่ยวทะเล ทานอาหารทะเล และจับจ่ายซื้อสินค้าไทย ทุกวันนี้การเดินทางเข้า-ออกยังไม่สะดวก สมาคมได้ผลักดันร่วมกับหอการค้าจังหวัดตราด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด ให้ยกระดับจุดผ่านแดนทั้ง 2 แห่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพราะด้านโพธิสัตว์มีการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชา มีชาวจีนเข้ามาอยู่หลายแสนคนที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ตราด

Q : มุ่งสู่ One Market One Destination

การพัฒนาการท่องเที่ยวว่า เมื่อระดับการพัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแบบ One Market One Destination แหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะกูด เกาะหมาก ที่ได้รับความนิยมจะทำตลาดได้ง่าย แต่ละเกาะควรมีวิชั่นที่ชัดเจน เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่มุ่งเน้นปริมาณ เช่น เกาะช้าง ควรเป็นแนววาไรตี้หลากหลาย เกาะกูด เป็นพาราไดซ์ สวรรค์สำหรับคนที่ชื่นชอบธรรมชาติ และเกาะหมาก เป็นสโลว์ไลฟ์เพราะเงียบสงบ เหมาะสำหรับมาพักผ่อนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ๆ ซึ่งการท่องเที่ยวจะเชื่อมโยงระหว่างบนฝั่งและเกาะ พื้นที่บนฝั่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม ต่อไปจะมีการค้า การลงทุน เพราะระบบการขนส่งสะดวกเข้าถึง และปีนี้สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวได้ร่วมมือกับสมาคมโรงแรมและรีสอร์ทจังหวัดตราด จัดทำ “โครงการไทยเที่ยวตราด” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดตราดอย่างต่อเนื่อง

Q : “เกาะช้าง” มีปัญหาสะสม

เกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ปี 2560 มีปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวน 1,259,976 คน มากถึง 60% ทำรายได้ถึง 12,000 ล้านบาท หรือ 69% ปัจจุบันมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ปัญหาถนนรอบเกาะช้าง ท่าเทียบเรือ ปัญหาระบบขนส่งของนักท่องเที่ยวที่โดยสารเรือเฟอรี่ ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งบนเกาะช้าง ทำให้รถติดวันหยุดยาว นักท่องเที่ยวใช้เวลาเดินทางเกาะช้าง 7-8 ชั่วโมง และใช้เวลารอลงเรือเฟอรี่แต่ละครั้ง 2-3 ชั่วโมง ในอนาคตหากมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับต่างประเทศทั้งทางอากาศ ทางเรือ ทางบก เกาะช้างต้องเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น ท่าเทียบเรือ เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด สมาคมโรงแรมและรีสอร์ทจังหวัดตราด ท้องถิ่น เทศบาล อบต. ตำรวจท่องเที่ยว อุทยานเกาะช้าง หน่วยราชการ ภาคเอกชนต่าง ๆ ต้องบริหารจัดการร่วมกัน

การพัฒนาการท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล บางครั้งต้องออกแบบนวัตกรรมที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างใหญ่โต แต่อาจเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณเดียวกัน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก ถึงเวลาที่ต้องคิดว่าควรสร้างเคเบิลคาร์บนเกาะช้างหรือไม่ ไทยมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ อยู่ใกล้สนามบินนานาชาติเกาะกง และมีธรรมชาติ วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ และอยู่ในเส้นทางผ่านของนักท่องเที่ยวที่จะไปพัทยา สมุย หรือจากสมุย พัทยา ไปกัมพูชา เวียดนาม