ตรังชง FAO ชู ‘เกาะสุกร’ ขึ้นแท่น ‘มรดกเกษตรโลก’

วิถีควายทะเล - เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์พิเศษ เรื่องระบบการเลี้ยงควายทะเลในพื้นที่น้ำกร่อย น้ำเค็ม

ตรังเล็งชงเลี้ยง “ควายทะเลเกาะสุกร”เสนอเป็น “มรดกโลกทางด้านการเกษตร” เหตุเข้า 5 หลักเกณฑ์พื้นที่ GIAHS ของ FAO “พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นอัตลักษณ์พื้นที่พิเศษเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ช่วยรักษาระบบนิเวศ”

นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร ร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรทำนาข้าวตำบลเกาะสุกรได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาประเด็นเรื่องพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage System-GIAHS) และที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันการนำพื้นที่ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งมีจุดเด่นเรื่อง “ระบบการเลี้ยงควายทะเลในพื้นที่น้ำกร่อย พื้นที่น้ำเค็ม และบนชายฝั่งทะเล” ซึ่งมีความสำคัญต่อชุมชนในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เสนอต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็น “มรดกโลกทางด้านการเกษตร”

เนื่องจากเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ (criteria) สำคัญ 5 ประการของพื้นที่ GIAHS คือ ความมั่นคงทางด้านอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ความหลากหลายทางชีวภาพและหน้าที่ของระบบนิเวศ ระบบความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี วัฒนธรรม ระบบค่านิยม และองค์กรทางสังคม และภูมิประเทศที่โดดเด่น ลักษณะการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ พบว่า เกาะสุกรมีองค์ประกอบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

“การเลี้ยงควายทะเลเป็นอาชีพที่สำคัญ ช่วยสร้างรายได้และเงินออมให้กับเกษตรกร โดยมีแหล่งรับซื้อควายที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มจังหวัดอันดามัน ปัจจุบันการทำนาข้าวริมทะเลและการเลี้ยงควายทะเลได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ส่งผลให้มีการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงควายทะเลก่อให้เกิดวิถีนาและวิถีเล ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและมรดกภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ ภูมิปัญญาในการทำคอก ภูมิปัญญาในเรื่องสมุนไพรรักษาโรคควาย เป็นต้น ระบบการเลี้ยงควายทะเลตำบลเกาะสุกรมีความโดดเด่นมากในเรื่องการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น สามัคคี และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ ระบบการเลี้ยงควายทะเลยังส่งผลต่อระบบนิเวศพื้นที่น้ำกร่อย พื้นที่น้ำเค็ม และพื้นที่บนฝั่ง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างควายกับสัตว์ในพื้นที่เกาะสุกร โดยเฉพาะนกซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยความสัมพันธ์ทางตรงนั้นก่อให้เกิดแหล่งอาหารของนก กล่าวคือ เมื่อควายทะเลเดินทำให้เกิดการแตกตื่นของฝูงแมลง และฝูงปลาที่เป็นอาหารของนกที่เดินตามหลังควาย ส่วนความสัมพันธ์ทางอ้อม คือ ช่วยลดพื้นที่รกร้างซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของศัตรูนักล่าของนก ส่งผลดีต่อการวางไข่และเพิ่มอัตรารอดของลูกนก ทำให้ประชากรนกในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

นางราตรีกล่าวต่อไปว่า พื้นที่เกาะสุกรมีความหลากหลายของสัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำกร่อย และสัตว์น้ำเค็ม ความสัมพันธ์ระหว่างควายทะเลกับสัตว์น้ำดังกล่าวมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือแหล่งขยายพันธุ์ ทั้งนี้ เพราะว่าปลักควายและทางเดินของควายก่อให้เกิดแหล่งน้ำขัง จึงเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำเป็นอย่างดี ส่วนความสัมพันธ์ทางอ้อม คือ การเพิ่มจำนวนของสัตว์น้ำ พบว่าการที่ควายทะเลถ่ายมูลลงในน้ำเป็นการเพิ่มแหล่งอาหารให้กับแพลงก์ตอน ซึ่งแพลงก์ตอนนั้นเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนจึงเป็นการเพิ่มปริมาณจำนวนของสัตว์น้ำด้วย

Advertisment

นางราตรีกล่าวต่อไปว่า ฝูงควายบนเกาะสุกรมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศเนื่องจากควายกินพืช และวัชพืชหลายชนิดประมาณ 3-4 ตันต่อวัน ส่งผลให้เกิดการกระจายของพันธุ์พืชและหญ้าภายในพื้นที่บนเกาะสุกร นอกจากนั้น การที่ควายกินพืชและวัชพืชหลายชนิดส่งผลให้ลดปริมาณการเน่าเปื่อยของพืชน้ำ และช่วยชะลอการตื้นเขินของคูคลอง แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบนิเวศบนเกาะสุกร นอกจากนี้ควายทะเลยังมีความสำคัญกับการประกอบอาชีพการเกษตร การทำนาปลูกข้าว และการปลูกแตงโม ได้รับประโยชน์โดยตรง คือ การที่ควายกินหญ้าและถ่ายมูลลงในพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดสารอินทรียวัตถุซึ่งเป็นปุ๋ยที่ดีสาหรับเกษตรกรที่ทำนาและปลูกแตงโม เป็นการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตให้กับเกษตรกร ข้าวและแตงโมยังปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้ก็เพราะว่าแมลงศัตรูพืชถูกกำจัดโดยนกกินแมลงที่อยู่บนเกาะสุกร

“ส่วนอาชีพด้านการประมงก็เกิดประโยชน์ เนื่องจากควายที่ลงไปเล่นน้ำทะเลขณะที่น้ำทะเลลดลง (ช่วงน้ำลง) มีการถ่ายมูลลงน้ำ มูลของควายเป็นอาหารของแพลงก์ตอน ซึ่งแพลงก์ตอนถือเป็นห่วงโซ่อาหารชั้นแรกของสัตว์น้ำ การถ่ายมูลลงในทะเลของควายเป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในทะเลฝั่งอันดามันเกาะสุกรนับว่าเป็นเกาะที่มีวัวควายมากที่สุด มีการทำนาและปลูกแตงโมบริเวณชายฝั่งทะเล นับเป็นพื้นที่ที่โดดเด่น เป็นอัตลักษณ์เป็นพื้นที่พิเศษเฉพาะที่มีความสำคัญ ในด้านการท่องเที่ยวทั้งวิถีนาและวิถีเล บนเกาะสุกรจึงกลายเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง” นางราตรีกล่าว

Advertisment