แล้งลามสวนทุเรียนอ่วม “โรงแรมภูเก็ต”แห่ซื้อน้ำ

วิกฤตน้ำทั่วไทย ลามธุรกิจ โรงแรม-คอนโดเทล ภูเก็ต 9 หมื่นห้อง ซื้อน้ำจากขุมเหมืองมาป้อน ด้านโรงงานอุตฯตะวันออก ระทึกน้ำใช้ในอ่างเหลือน้อย-ขาดแคลนแน่ ชาวสวนเมืองจันท์-ตราด ดิ้นฝุ่นตลบ ต้องควักกระเป๋าซื้อน้ำมารดทุเรียน มังคุด คันละ 2,000 บาท

ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่มาเร็วขึ้นกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในหลายจังหวัด และมี 16 จังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) กระจายอยู่ในภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์ ล่าสุด ปัญหาภัยแล้งได้เริ่มลามถึงโรงงานอุตสาหกรรม-สวนผลไม้ ในหลายจังหวัด

โรงแรมภูเก็ตต้องซื้อน้ำใช้

นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด และบริษัท โบ๊ท แอสเซท แมนเนจเมนท์ จำกัด ในเครือภูเก็ต โบ๊ต ลากูน ผู้ประกอบการธุรกิจมารีน่า โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จ.ภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์แล้งในจังหวัดภูเก็ตมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากอ่างเก็บน้ำหลัก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อำเภอถลาง อ่างเก็บน้ำบางวาด อำเภอกะทู้ และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ อำเภอเมืองภูเก็ต มีน้ำเหลือน้อยและน้ำประปาไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและคอนโดเทล ประมาณ 90,000 ห้อง ซึ่งขณะนี้ต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ โดยเฉพาะย่านแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น ป่าตอง อ.ถลาง ขณะที่บริเวณหาดกะรน

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ยังคงเดินหน้าโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล เพื่อจ่ายน้ำไปหาดกะตะด้วย ซึ่งทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง จุดที่คาดว่าจะวิกฤตหนักคือ ป่าตอง ที่มีโรงแรมและคอนโดฯจำนวนมาก ขณะที่ อ.ถลาง อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำน้ำเริ่มแห้ง ตอนนี้โรงแรมต้องซื้อน้ำแพงขึ้นกว่า 3 เท่า โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น บางรายต้องซื้อแพงขึ้นอีก 10-20% จากปกติลิตรละ 20-30 บาท หลายรายใช้วิธีการทำสัญญาซื้อน้ำจากขุมเหมืองเป็นระยะยาวซึ่งทำให้ได้ราคาที่ถูก

ดร.กฤษฎา ตันสกุล ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้ภัยแล้งกระทบกับธุรกิจโรงแรม และช่วงนี้โรงแรมจะซื้อน้ำดิบมาไว้ใช้ทุกปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในภูเก็ตยังมีปริมาณน้ำดิบพอที่จะซื้อมาบรรเทาได้ หรือในป่าตอง ได้มีการผลิตน้ำระบบอาร์โอให้กับผู้ประกอบการได้ใช้น้ำกัน ดังนั้น ยังพอจะแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ในอนาคตถ้าสถานการณ์แล้งนาน แหล่งน้ำดิบลดลงมากก็จะกระทบมากขึ้น

โรงงานอุตฯระยองส่อวิกฤต

นายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ค่อนข้างกังวลว่าปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลักจะมีไม่เพียงพอกับความต้องการ และคาดว่าจะมีน้ำใช้ไปจนถึงเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น หลังจากนั้นคงเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยาเคยมาให้ข้อมูลในที่ประชุมที่จังหวัดระยองว่า ฝนจะไม่ตกอีกจนถึงเดือนเมษายน 2563 และไม่สามารถทำฝนเทียมได้ เพราะในอากาศไม่มีความชื้น

สภาอุตฯระยอง เตรียมทำหนังสือถึง 3 จังหวัด, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สะท้อนถึงปัญหาและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาและวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อรองรับปัญหาน้ำไม่พอใช้ในอนาคต เพราะเมื่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้น จะมีโรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และแหล่งน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีน้ำไม่เพียงพออยู่แล้ว

“ตอนนี้กำลังคุยกันว่ากรมชลประทาน ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีอยู่ราว 30% ให้มีประสิทธิภาพและอยู่ได้นานที่สุด และที่ผ่านมาได้หารือกับกรมน้ำบาดาล เพื่อหาทางเอาน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการสำรวจปริมาณน้ำและความเป็นไปได้ ที่จะดึงน้ำมาใช้ในรายละเอียด”

นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาฯหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ภาคตะวันออกเริ่มวิกฤตน้ำแล้ว เนื่องจากยังไม่สามารถผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี มาใช้ได้ และต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และอ่างเก็บน้ำประแกต มีความจุรวมกัน 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอ่างเก็บน้ำคลองประแกต ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนอีก 3 อ่างที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA)

จันท์-ตราด จ่อซื้อน้ำรดผลไม้

นายสมชาย ลินจง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าเดือนมีนาคมฝนยังทิ้งช่วงจะเกิดปัญหาภัยแล้งแน่นอน และจะส่งผลกระทบกับสวนผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด โดยขณะนี้ อบต.เตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อนำมาใช้ แต่ยังติดปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ เนื่องจากข้อบัญญัติของ อบต.ไม่ได้อนุมัติให้ใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นจึงอาจจะต้องขออนุมัติงบประมาณจากหน่วยงานอื่น และหากถึงเวลาไม่มีน้ำจริง ๆ ชาวสวนก็อาจจะต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อน้ำมารดสวนผลไม้เหมือนปี 2559 เพื่อไม่ให้ทุเรียน มังคุด เงาะ ฯลฯ เสียหาย และราคาอาจจะสูงถึงเที่ยวละ 2,000 บาท (12,000-15,000 ลิตร)


นายสังคม นิลฉวี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลประณีต อ.เขาสมิง แหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น อบต.ได้ร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ 40 ไร่ เพื่อรองรับการสูบน้ำจากคลองเวฬุให้เกษตรกรได้ต่อท่อไปใช้ในสวน นอกจากนี้ อบต.ยังประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนขนาด 20 ไร่ขึ้นไปต้องกันพื้นที่ไว้เป็นสระน้ำ 10% เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว