“พิงคนคร” เดินแผนปี’63 ปรับโฉมไนท์ซาฟารี

“พิงคนคร” เดินหน้าแผนงานปี”63 เร่งปรับโฉมเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ทุ่ม 130 ล้าน รีโนเวต “น้ำพุดนตรี” ระดมทุกภาคส่วนเสนอไอเดียวางรูปแบบเพื่อกำหนด TOR คาดเริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน เผยรายได้เติบโตต่อเนื่อง ปี”62 ทะลุ 252 ล้าน ดึงตลาดอินเดียเสริมทัพจีน ตั้งเป้าปี’63 รายได้โต 267 ล้าน

นายอนุชา ดำรงมณี กรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินงานของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีรายได้รวมทั้งสิ้น 252 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2561 ที่มีรายได้ 246 ล้านบาท โดยมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยปี 2561 มีตัวเลข EBITDA จำนวน 34 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 40 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2563 จะมีตัวเลขรายได้เติบโตจากปีที่ผ่านมา 6% คิดเป็นรายได้ 267 ล้านบาท

สำหรับรายได้ในปี 2562 ดังกล่าว ถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 250 ล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 700,000 คน ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง เทียบกับปี 2561 อยู่ที่กว่า 600,000 คน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตนเอง (FIT) 50% และนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ 50%

นายอนุชากล่าวว่า นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ยังคงเป็นตลาดจีน 100% ขณะที่นักท่องเที่ยว walk-in หรือกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเองราว 70% เป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ถือเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางเอง ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยมีสัดส่วน 30% อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 จะมุ่งขยายตลาดประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มใหม่ที่เดินทางมาเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น และเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่พึ่งพาตลาดจีนเพียงตลาดเดียว

โดยแผนงานสำคัญในปี 2563 มีแผนปรับปรุงระบบไอที ปรับระบบขายตั๋ว การติดตั้งกล้องวงจรปิด การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งยังไม่เคยมีการปรับปรุงนับจากเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลา 14 ปี โดยเฉพาะไฮไลต์สำคัญ คือ โครงการปรับปรุงลานน้ำพุดนตรี ด้วยงบฯลงทุนราว 130 ล้านบาท ซึ่งเตรียมระดมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษามาร่วมเสนอไอเดียว่าจะปรับปรุงน้ำพุดนตรีในรูปแบบใด ที่ต้องทันสมัยและยิ่งใหญ่กว่าเดิม จากนั้นจะกำหนด TOR โดยจะเริ่มก่อสร้างและปรับปรุงเดือนกันยายน 2563 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวาระครบรอบ 15 ปี เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในปี 2564

นายอนุชากล่าวต่อว่า นับจากปี 2561 จากการเข้ามากำกับดูแลเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร ส่งผลให้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีรายได้ทะลุ 200 ล้านบาท ในปี 2561 เป็นปีแรก และเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่มีประมาณ 200 ล้านบาท และจากการวิเคราะห์ตัวเลขผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มองว่าภาพรวมของธุรกิจเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แม้จะถูกตัดทอนงบประมาณตั้งแต่ปี 2561 ที่ได้รับงบประมาณลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2561 ได้รับงบประมาณ 150 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับงบประมาณ 115 ล้านบาท และปี 2563 ไม่ได้รับงบประมาณ ดังนั้นจึงต้องดูแลเลี้ยงตัวเองให้ได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลังจาก ครม.มีมติให้ถ่ายโอนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปให้องค์การสวนสัตว์ มี พ.ร.บ.ให้ยุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีต้องดำเนินการถ่ายโอนในสภาพที่ดีที่สุด ที่ผู้รับโอนสามารถนำไปดำเนินการสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น และประเทศด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปี 2562 สิ่งที่ได้ดำเนินการ คือ รักษาสภาพแวดล้อมให้ดีที่สุดและยั่งยืน การดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ให้ได้มาตรฐานสากล เป็นเป้าหมายอันดับแรก พร้อมด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างความเจริญให้เศรษฐกิจของประเทศและชุมชนได้